เนื้อหาวันที่ : 2011-02-14 18:26:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2054 views

จี้เพิ่มสัดส่วนแรงงาน ปวช.ปวส.แก้วิกฤติขาดแคลน

ทีดีอาร์ไอ เสนอปฎิรูปการศึกษารอบสอง เร่งยกระดับคุณภาพพื้นฐาน เพิ่มสัดส่วนปวช. ปวส. ในตลาดแรงงาน เชื่อมผู้ประกอบการจัดหลักสูตรระยะสั้น

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เสนอปฎิรูปการศึกษารอบสอง เร่งยกระดับคุณภาพพื้นฐาน ปรับโครงสร้างแรงงานที่ “แหว่งกลาง” ผลิตสายวิชาชีพให้มาก เพิ่มสัดส่วนปวช.ปวส.ในตลาดแรงงาน เชื่อมผู้ประกอบการจัดหลักสูตรระยะสั้นเติมความรู้เฉพาะดึงคนรอยต่อจะเรียนหรือทำงาน รวมทั้งพวกว่างงาน/ทำงานต่ำชั่วโมงก็ต้องดึงกลับสู่ระบบการทำงาน แก้วิกฤติแรงงานขาดแคลน

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในการประชุมประชาพิจารณ์ โครงการศึกษาความต้องการกำลังคนเพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ แผนปฏิบัติการในระดับกลุ่มจังหวัด ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ทีดีอาร์ไอทำการศึกษา

เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้จบการศึกษากับผู้ที่ตลาดแรงงานต้องการในแต่ละระดับการศึกษา โดยทำการศึกษา 8 กลุ่มจังหวัด คือ ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนกลาง ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง จังหวัดฝั่งอ่าวไทย ภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยงานดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ

จากการศึกษาพบว่า มีความไม่สอดคล้องกันอย่างมากของการผลิตผู้จบการศึกษาในพื้นที่โดยเฉพาะในระดับ ปวช.,ปวส.,อุดมศึกษา(ป.ตรี/โท) จำนวนมากเกินกว่าความต้องการในพื้นที่จะดูดซับเอาไว้ได้ คนในส่วนที่เกินนี้จึงต้องไปหางานนอกพื้นที่ มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่มีสาขาที่มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์

แต่โดยทั่วไปแล้วมักพบว่า มีความต้องการมากกว่าคนที่ผลิตได้ จะเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานระดับมัธยมลงมา แต่ที่ผลิตเกินคือแรงงานสายช่าง ปวช. ปวส. ขึ้นไป ซึ่งมีการใช้น้อยในระดับกลุ่มจังหวัดโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาต่ำ

สิ่งที่ขัดแย้งกันคือ หลายจังหวัดยังพบเห็นการขาดแคลนแรงงานระดับบนที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี แต่ในระดับปริญญาตรีนั้นมีมากเกินความต้องการ ในแต่ละปีจึงมีผู้ว่างงานในระดับนี้ 8-9 หมื่นคน สิ่งที่รัฐดำเนินนโยบายผลิตคนที่ผ่านมาจึงเป็นความไม่สอดคล้องกันทั้งในเชิงปริมาณและเมื่อออกสู่ตลาดแรงงานก็ยังไม่สอดคล้องกับที่ตลาดแรงงานมีความต้องการทั้งสาขาและจำนวน อีกทั้งยังมีปัญหาเชิงคุณภาพด้านสมรรถนะพื้นฐาน (Core Competencies)และระดับวิชาชีพ (Functional Competencies) ที่จำเป็นในการทำงาน

ทั้งนี้จากการประเมินคุณลักษณะพื้นฐานของแรงงานเป็นรายอาชีพ เช่น ช่างซ่อมแอร์ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรทั่วไป ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ พบว่า คุณลักษณะพื้นฐานที่พึ่งปรารถนาของแรงงานในเชิงคุณภาพที่นายจ้างทุกแห่งต้องการ คือ การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ไม่ก้าวร้าว มีมารยาท มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสำนึกที่ดี มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม และความสามารถในการปรับตัว

แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนแรงงานช่างซ่อมบำรุงยังขาดอยู่มากคือ การมีจิตสำนึกในการบริการ การตรงต่อเวลา อดทน ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนข้อดีคือเรื่องความสุภาพอ่อนโยน การมีมารยาท แต่เรื่องอื่น ๆ ยังต้องปรับปรุงอีกมาก รวมทั้งทักษะการสื่อสาร ความรู้คอมพิวเตอร์และความรู้ภาษาอังกฤษ

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า คุณลักษณะพื้นฐานในสาขาช่างที่ปรากฏเป็นผลสืบเนื่องมาจากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับมาตลอดช่วงการศึกษาไม่ดีขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบแรงงาน ความไม่สอดคล้องนี้เป็นความผิดพลาดจากอดีตที่ไม่มีการส่งเสริมให้มีการใช้แรงงานสายช่างในสถานประกอบการ

โดยผู้ประกอบการนิยมจ้างแรงงานสายสามัญมากกว่า เนื่องจากหาง่ายและคิดว่าเอามาฝึกทักษะเพียงเล็กน้อยก็ทำงานได้แล้วและในระยะยาวจะไม่มีแรงกดดันด้านค่าจ้างเหมือนจ้างแรงงาน สายช่างซึ่งมีเรื่องค่าวิชาชีพ และในระยะยาวแรงงานสายช่างจะปรับเงินเดือนได้มากกว่าสายสามัญ 3-4 เท่า

“ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา เราปล่อยให้การเรียนการสอนระดับปวช.ตกต่ำมามากกว่า 15 ปี ขาดความใส่ใจอย่างจริงจังจากฝ่ายบริหาร การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมาเกือบจะไม่ได้ประโยชน์ในการที่จะเน้นไปที่คนเรียนในสายช่างเลย ตรงนี้นับเป็นความผิดพลาดอย่างมากในการดูแลเรื่องระบบการศึกษาของชาติ”

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หากหวังให้ภาคการผลิตเติบโต และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่ก็ควรจะใช้คนที่มาจากสายวิชาชีพ แต่ปัจจุบันมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาจาการทำงานของคนที่ไม่ใช่สายวิชาชีพ

ซึ่งคนเหล่านี้เมื่ออยู่ในภาคการผลิต(หรือโรงงาน)นานๆและในที่สุดต้องออกไปก็จะกลายไปเป็นคนธรรมดาแต่อาจจะมีประสบการณ์ติดตัวจากสายงานผลิตที่เคยทำมาในอดีตเท่านั้นซึ่งแทบจะไม่สามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ ต่างจากคนในสายวิชาชีพที่สามารถพัฒนาทักษะวิชาชีพจากการทำงานและสามารถนำประสบการณ์ไปต่อยอดการดำเนินชีวิตในอนาคตได้ดีกว่า

“ตอนนี้เส้นกราฟโครงสร้างตลาดแรงงานที่เป็นอยู่มีลักษณะแหว่งกลาง คือ มีการใช้แรงงานที่มีการศึกษาในระดับมัธยมต้นหรือต่ำกว่าสูงมาก รองลงมาคือมัธยมปลาย ส่วนตรงกลางซึ่งเว้าไปอยู่ฐานรากมีการใช้น้อยที่สุดคือ ปวช.,ปวส. จากนั้นก็ขยับขึ้นไปที่ปริญญาตรีปริญญาโทเลย ”

ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้แรงงาน ปวช.เพียง 3% หรือ ราว 1.25 ล้านคนจากจำนวนแรงงานระดับปวช.ปวส.ทั้งระบบ 7%หรือประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากและเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เป็นความผิดพลาดของประเทศ ที่ไม่ได้วางระบบให้มีการใช้คนสายช่างเป็นตัวนำในการพัฒนาประเทศ

อีกทั้งไม่มีการวางแผนระยะยาวว่าจะพัฒนาประเทศเติบโตไปทิศทางที่ต้องใช้คนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร และควรวางแผนด้านการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับอย่างไร ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงควรให้ความสนใจคนในสายวิชาชีพ(สายเทคโนโลยี) เพื่อปรับสัดส่วนโครงสร้างแรงงานและการศึกษาที่จะมีความสอดคล้องกันมีพลังในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น

ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอให้ข้อเสนอแนะว่า การลดช่องว่างเพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างแรงงาน การศึกษา อาชีพ ได้นั้นจะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ยกระดับอุปทานให้สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะคุณลักษณะพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสามารถส่งต่อให้ตลาดแรงงานได้สอดคล้องกับความต้องการและตัวแรงงานสามารถพัฒนาตนเองได้ด้วย โดยต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตกำลังคนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสถานศึกษาและผู้ประกอบการในตลาดแรงงาน

ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานแต่ก็ยังมีคนที่อยู่นอกระบบทั้งกลุ่มว่างงานหรือทำงานต่ำชั่วโมงอีกเป็นจำนวนมาก เราต้องพยายามนำคนเหล่านี้กลับเข้ามาทำงาน หรือคนที่ยังไม่จบ ปวช.ปวส.อยู่รอยต่อระหว่างจะเรียนต่อหรือทำงานให้ได้ทุกคน วิธีที่เสนอคือการจับคู่ระหว่างสถานศึกษากับสถานประการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มเติมความรู้ที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งเมื่อจบแล้วหากต้องการทำงานสถานประกอบการก็สามารถรับไปทำงานได้เลย

“แต่ละปีมีผู้จบปวช.ราว 4-5 หมื่นคน และบางจังหวัดมีถึง 5 พันคน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เมื่อจบปวช. อายุยังไม่ถึง 18 ปี เมื่อไม่ได้เรียนต่อปวส.ก็มักจะหลุดออกจากระบบไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ตอนนี้เราขาดแคลนแรงงาน และมีกำลังแรงงานถดถอยลง ยิ่งต่อไปจะมีคนสูงอายุมากกว่าวัยทำงาน เราต้องทำให้คนทุกคนที่เมื่อเรียนจบแล้วทำงานได้ สร้างประโยชน์ต่อไปได้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่งานวิจัยนี้เสนอคือ ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในทุกมิติต้องสัมพันธ์กับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงต้องเน้นความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการหรือผู้ใช้และต้องทำให้คนในแต่ละพื้นที่หรือกลุ่มจังหวัดรู้ว่าที่เขาอยู่มีแหล่งงานอะไรรองรับอยู่ที่ไหนบ้าง หากทำให้แรงงานสามารถทำงานในพื้นที่ของตนเองได้ก็จะช่วยลดทอนปัญหาทางสังคมและปัญหาด้านอื่น ๆ ได้ด้วย.