เนื้อหาวันที่ : 2011-02-11 16:45:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1838 views

จับกระแส CSR ปี 54 มุ่งสู่ CSR Report Social Media และ Greener Growth

สถาบันไทยพัฒน์ฯ จับมือ CSRI และตลท. เผยแนวโน้ม CSR ปี 2554 เกาะกระแสสิ่งแวดล้อมและ Social Media ร้อนแรง พัฒนาสู่ความรับผิดชอบและเป็นที่ยอมรับต่อสังคม

สถาบันไทยพัฒน์ฯ จับมือ CSRI และตลท. เผยแนวโน้ม CSR ปี 2554 เกาะกระแสสิ่งแวดล้อมและ Social Media ร้อนแรง พัฒนาสู่ความรับผิดชอบและเป็นที่ยอมรับต่อสังคม

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแนวโน้ม ปี 2554 การจัดทำรายงาน CSR จะเป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจที่ต้องการพัฒนาสู่ความรับผิดชอบที่ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับต่อสังคม มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์สนับสนุนการสื่อสารเรื่อง CSR เพิ่มขึ้น ในปีนี้ และหลายธุรกิจจะใช้กระแสสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตและยกระดับให้มีความเขียวเหนือกว่า (Greener) คู่แข่งขันในตลาด

นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) เปิดเผยในงานแถลงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2554 “Reporting your CSR” ในวันนี้ (10 ก.พ. 2554) ว่าปัจจุบันภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย

สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งบทบาทในด้าน CSR ของภาคธุรกิจยังเป็นเงื่อนไขที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า

ดังนั้น สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการพัฒนากระบวนการดำเนินงาน CSR ที่มีประสิทธิภาพ สามารถสนองตอบต่อความคาดหวังของสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล ทิศทางการขับเคลื่อนงาน CSR ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2554 จึงยังคงมุ่งเน้นงานเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทั้งด้าน CSR ทั่วไปควบคู่ไปกับประเด็นด้าน CSR ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งงานพัฒนาและส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการนำมาประยุกต์สู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการดำเนินงาน CSR ของบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการจัดทำวิจัยด้าน CSR ด้วย

“ในปีนี้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่อจากเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม พัฒนาหลักการและแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลรายงาน CSR ที่สอดคล้องกับกรอบการรายงาน (Reporting Framework) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในการชี้แจงข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนและการสื่อสารกับสังคม ที่ในวันนี้ผลประกอบการของบริษัทฯ จะต้องถูกนำเสนอทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำรายงานดังกล่าว มิได้เป็นข้อกำหนดบังคับ แต่เป็นช่องทางในการเพิ่มคุณค่าองค์กรโดยสมัครใจที่ได้รับการยอมรับในสายตาของผู้ลงทุนและสังคม”

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาทิศทางและแนวโน้มของ CSR ในปีนี้ว่า การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของกิจการ ที่ซึ่งการประชาสัมพันธ์ CSR ไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนดังเดิม

จุดมุ่งหมายหลักของการเปิดเผยรายงาน CSR คือ เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร โดยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่เกื้อหนุนให้การรายงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ บูรณภาพ (Inclusivity) ของการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและความครอบคลุมของภารกิจ CSR ในเรื่องหลักและประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน

สารัตถภาพ (Materiality) ของตัวบ่งชี้สัมฤทธิภาพในกิจกรรม CSR ที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ และทีฆภาพ (Sustainability) ของกิจกรรม CSR ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ธุรกิจที่มีการดำเนินงาน CSR อยู่ในกระบวนการ แต่ยังมิได้มีการเปิดเผยรายงานต่อสังคมอย่างเป็นทางการ จึงควรต้องเริ่มสำรวจและเก็บบันทึกข้อมูล วางแผนการเปิดเผยข้อมูล ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย คัดเลือกข้อมูลที่จะรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียในช่องทางที่เหมาะสม พร้อมรับต่อแนวโน้มของการรายงานด้าน CSR ที่เกิดขึ้น”

แนวโน้มที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) จะแผ่อิทธิพลสู่การดำเนินงาน CSR ขององค์กร นอกเหนือจากการใช้เพื่อส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์ และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถวางกลยุทธ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเชิงรุก

เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมในกิจกรรม CSR ขององค์กร ในลักษณะของการร่วมสร้าง (Co-Creation) อาทิ การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม (Social Marketing) ที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาหรือการทำให้เกิดผลจากการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะ อันจะนำมาซึ่งคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างองค์กรและสังคม

พร้อมด้วยกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้แผ่ขยายอย่างกว้างขวางต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจหลายแขนงมีการยกระดับกลยุทธ์สีเขียวจากการทำเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost Saving) มาสู่การสร้างเม็ดเงินรายได้ใหม่ๆ (Revenue Creating) ด้วยการปรับปรุงสายผลิตภัณฑ์ให้สนองตอบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาสถานะการเติบโตในตลาดด้วยความเขียวเหนือกว่า (Greener) คู่แข่งขัน