เนื้อหาวันที่ : 2011-02-11 13:52:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2148 views

ประกันแรงงานนอกระบบ การจัดการยังน่าห่วง

ประกันแรงงานนอกระบบ อีกหนึ่งมาตรการของนโยบายประชาวิวัฒน์ที่น่าจับตา ขณะที่หลายมาตรการออกอาการฝ่อตั้งแต่เริ่ม ทีดีอาร์ไอชี้หากทำได้จริงจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่น้อย

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีการพูดกันมากถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ หรือบางคนเรียกว่า “ประชานิยม”ที่รัฐบาลประกาศออกมา พร้อมมาตรการ 9 ข้อ ที่เน้นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมไปถึงการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

หลายมาตรการฝ่อตั้งแต่เริ่มต้น เช่นกรณีไข่ชั่งกิโลที่มีกระแสตอบรับน้อย แต่มาตรการขยายสวัสดิการประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ หากทำได้จริงน่าจะเกิดคุณูปการแก่ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังแรงงานของประเทศมากกว่า 23 ล้านคน และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

อีกทั้งยังช่วยสร้างสมดุลของสวัสดิการแรงงาน เพราะประเทศไทยมีแรงงานภาคทางการน้อยกว่าแรงงานภาคไม่เป็นทางการมาก(ราว 3 เท่า)และไม่สามารถลดขนาดเล็กลงได้ก็ต้องทำให้แรงงานเหล่านี้เกิดความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น แต่การบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนระยะยาวยังน่าห่วง หากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ ทั้งตัวระบบรองรับและการเข้าถึงตัวแรงงาน ทำความเข้าใจและมาขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบ

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการขยายสวัสดิการให้กับแรงงานนอกระบบ และการให้สินเชื่อพิเศษแก่ แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

เรื่องเหล่านี้หากรัฐบาลทำได้จริงจะเป็นผลงานที่สร้างชื่อและเรียกคะแนนนิยมได้มาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ได้เข้ามาอยู่ในระบบและได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น และคาดว่าจะมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์หลายล้านคนจากแรงงานนอกระบบมากกว่า 24 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 62 ของกำลังแรงงานของประเทศ ครอบคลุมแรงงานนอกระบบซึ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

กลุ่มแรกเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป อาทิ แท็กซี่ สามล้อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย ช่างเสริมสวย แรงงานภาคเกษตรรวมไปถึงอาชีพที่มีรายได้สูงอย่างเช่น ทนายความ แพทย์ ที่มีกิจการเป็นของตนเอง และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้างต่างๆ อาทิ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล รับจ้างในกิจการประมงรวมไปถึงรับจ้างทำงานบ้าน และคนขับรถส่วนตัว

สำหรับสวัสดิการประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบนั้น ทำในรูปแบบรัฐร่วมจ่ายสมทบกับผู้ประกันตน โดยในขั้นต้นนี้รัฐทำเป็น 2 แพคเกจให้เลือกตามความสมัครใจ คือ แพ็คเกจแรก 100 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 30 บาท จะได้สิทธิประโยชน์เงินทดแทนเมื่อขาดรายได้ จำนวนหนึ่งเมื่อเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 วัน เงินค่าชดเชยเมื่อทุพพลภาพหรือเสียชีวิต

ส่วน แพ็คเกจที่สอง 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนแพ็คเกจแรก และบวกเพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งตรงบำเหน็จชราภาพนี้แรงงานนอกระบบยังสามารถเลือกสมทบเพิ่มเติมมากกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้

แม้ในระยะแรกคาดว่าจะมีคนเริ่มเข้ามาสู่ระบบไม่มากราว 2.5 ล้านคน แต่ในทางปฏิบัติการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากและการจัดระบบบริหารจัดการทั้งจำนวนแรงงานที่จะเข้าสู่ระบบและระบบการส่งเงินสมทบ เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมเดิมถึงเกือบ 3 เท่า (ในระบบประกันสังคมมีแรงงานราว 9 ล้านคนเศษ)

“แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ อยู่กระจัดกระจาย ในทางปฏิบัติต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพื่อให้ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ เพราะหากเขาไม่มาขึ้นทะเบียนก็ยากที่จะรู้ได้ ในทางปฏิบัติจึงต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานหลายฝ่าย ทั้งกลไกของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลงไปให้ถึงคนเหล่านี้ และควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์ เพราะทุกวันนี้บางคนยังไม่เข้าใจ ”

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วง คือ แม้ในที่สุดจะมีการแก้กฎหมายให้เปิดช่องดำเนินการได้ แต่ในทางปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมจะต้องปรับปรุงตัวองค์การ ในการจัดระบบรองรับเป็นการเฉพาะเนื่องจากเป็นการดูแลแรงงานกลุ่มใหญ่กว่าที่ประกันสังคมดูแลอยู่เดิมเพียง 9 ล้านคนเศษเท่านั้น

ขณะที่นโยบายนี้ถ้าประสบผลสำเร็จจะทำให้มีแรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ประกันสังคมสูงถึง 24 ล้านคน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งจำนวนบุคลากรและระบบบริหารจัดการต่าง ๆ ซึ่งมีต้นทุนดำเนินการค่อนข้างสูง อีกทั้งการส่งเงินสมทบผ่านช่องทางต่าง ๆ ล้วนมีค่าใช้จ่าย สำนักงานประกันสังคมต้องแบกรับต้นทุนทั้งเรื่องคนและการพัฒนาระบบรองรับ ต้องมีการประเมินว่าระบบไอซีทีที่มีอยู่เดิมรองรับได้หรือไม่ เช่น หากคนที่จะเข้าสู่ระบบมากเกินที่คาดไว้เช่น จาก 2.5 ล้านคนเป็น 6-7 ล้านคน

นอกจากนี้ควรแยกการบริหารจัดการกองทุนของแรงงานกลุ่มใหม่นี้เป็นคนละส่วนกับกองทุนประกันสังคมเดิมและมีเจ้าหน้าที่ดูแลเฉพาะ กล่าวคือ เหมือนมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อดูแลกองทุนของคนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่มีหน่วยงานดูแลเป็นการเฉพาะเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องสวัสดิการแรงงานนอกระบบนับเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะต่อไปกองทุนนี้จะเป็นภาระด้านงบประมาณ เนื่องจากเป็นลักษณะเงินสมทบ ซึ่งเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมจะดูแลอยู่เพราะมีความเชี่ยวชาญ แต่ก็ต้องแยกคนกลุ่มนี้ไม่ให้ไปปนกับคนในระบบประกันสังคมเดิม

สิ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อมีฐานมาจากการอุดหนุนของรัฐบาล และการบริหารจัดการก็อาจเกิดปัญหาจากความเสี่ยงของตัวแรงงานที่อาจมีการเข้าออกสูง การส่งเงินสมทบขาดความต่อเนื่อง กระแสเงินที่เข้ามาไม่ต่อเนื่อง อาจมีแรงกดดัน ทำให้ยากในการบริหารจัดการ ต้นทุนและค่าตอบแทนต่าง ๆ ก็อาจจะมีการเรียกร้องสิทธิทดแทนต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

หากจะให้กองทุนนี้ดำเนินการต่อไปได้และมั่นคง จะต้องมีการติดตามและประเมินผลต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนได้เมื่อพบว่าจะเป็นปัญหาในระยะยาว เพราะระบบนี้จะอยู่ได้ต้องมีคนเข้าระบบจำนวนมาก ถ้ามีคนเข้าระบบน้อยก็จะไม่คุ้มกับค่าบริหารจัดการ ซึ่งต้องมีการจ้างบุคลากรเพิ่มเติมและทำระบบรองรับ

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลจะใช้นโยบายอย่างนี้ได้ก็หมายความว่ารัฐบาลต้องหาเงินเก่งด้วย แม้จะบอกว่าเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าเยอะ แต่นโยบายยังขาดดุล 3-4 แสนล้านบาท ก็เป็นแนวโน้มที่ไม่ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาระงบประมาณในอนาคตรัฐบาลต้องมีวิธีหาเงินด้วย ต้องทำให้จีดีพีโตอย่างน้อย 4-5% จึงจะมีเงินรายได้เข้าคลังเพียงพอมาทำให้รัฐสวัสดิการเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด

อย่างไรก็ตาม หากมองว่ามาตรการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสมดุลแรงงานได้นั้น ต้องมีการบูรณาการกันหลายอย่าง เพราะโดยหลักการสมดุลแรงงานจะเกิดได้ ต้องลดขนาดของแรงงานภาคไม่เป็นทางการให้เล็กลง ทำให้มาอยู่ในระบบมากขึ้น หรือทำให้เขามีรายได้มีความมั่นคง ได้รับการดูแลมากขึ้น ซึ่งในแง่นี้ประกันรายได้แรงงานนอกระบบก็น่าจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรคือแรงงานนอกระบบที่จนที่สุดมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละไม่ถึง 4,000 บาท และคนเหล่านี้ก็จะเข้ามาเป็นแรงงานแฝงในกรุงเทพฯ มีจำนวนราว 2 ล้านกว่าคนซึ่งมากพอ ๆ กับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้เป็นนโยบายใหญ่ที่ต้องทำต่อไปเพื่อลดความเลื่อมล้ำในสังคม.