เนื้อหาวันที่ : 2011-02-09 18:39:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1831 views

เอกชนวอนรัฐอย่าบีบคนไทยใช้ของแพงคุณภาพต่ำ

ผู้ประกอบการใยหิน ออกโรงวอนรัฐทบทวนก่อนห้ามนำเข้า ห้ามใช้แร่ใยหินในประเทศ ชี้อันตรายต่อสุขภาพไม่ชัด หวั่นกระทบผู้บริโภคกว่า 2 ล้านคน โรงงานเล็กปิดตัว คนตกงานอีกกว่า 4 พันคน

 

ผู้ประกอบการใยหิน ออกโรงวอนรัฐทบทวนก่อนห้ามนำเข้า ห้ามใช้แร่ใยหินในประเทศ ชี้อันตรายต่อสุขภาพไม่ชัด หวั่นกระทบผู้บริโภคกว่า 2 ล้านคน โรงงานเล็กปิดตัว คนตกงานอีกกว่า 4 พันคน

กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ออกโรงร้องรัฐพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ให้รอบคอบ ก่อนพิจารณาจัดใยหินเป็นวัตถุอันตรายห้ามนำเข้าและห้ามใช้ในประเทศไทย ชี้ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือว่ามีคนได้รับอันตรายจากใยหินในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว แต่หากให้เลิกใช้กระทบแน่กับผู้มีรายได้น้อยกว่า 2 ล้านคน เท่ากับบีบบังคับผู้บริโภคให้ใช้ของแพงคุณภาพต่ำ เชื่อหากแบนใยหิน อุตฯ กระเบื้องหลังคา ผ้าเบรก จำเป็นต้องลดพนักงาน 3-4 พันคน โรงงานขนาดเล็กต้องปิดกิจการ

กรณีที่มีข่าวปรากฎตามสื่อมวลชนทั่วไปในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีการประชุมเพื่อหารือว่าจะจัดแร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ซึ่งห้ามนำเข้า รวมถึงห้ามผลิตและจำหน่ายหรือไม่ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินเป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

นายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ตนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของใยหินไครโซไทล์ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนักเกี่ยวกับใยหิน โดยเฉพาะในด้านของอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาต่อต้านการใช้ใยหิน ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลานานกว่า 30 ปีที่มีการนำเข้าใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศไทย ยังไม่เคยมีการรายงานผู้ป่วยด้วยโรคเหตุแร่ใยหินที่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือยืนยันเลย

ทั้งนี้ เมื่อประเด็นด้านอันตรายต่อสุขภาพไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน เราก็ควรมามองประเด็นในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหากมีการห้ามนำเข้าใยหินจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ที่ใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีใยหินกว่า 2 ล้านคน หรือ 5.7 แสนครัวเรือน ซึ่งคิดเป็น 50% ของตลาดผู้ใช้กระเบื้องมุงหลังคาทั้งประเทศ

นายอุฬารกล่าวว่า ปัจจุบันสารทดแทนที่นำมาใช้แทนใยหินไครโซไทล์นั้น มีราคาสูงกว่ากันถึง 10 เท่า ทำให้ไทยต้องเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท และราคาจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่มีใยหินก็สูงขึ้นทันทีประมาณ 30% ซึ่งถือเป็นภาระของผู้บริโภค และอาจส่งผลไปถึงราคาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ที่จะต้องสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

“ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนคนมีรายได้น้อย รวมถึงเกษตรกร ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากราคากระเบื้องมุงหลังคาที่แพงขึ้น ต้องเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาบ่อยขึ้น เพราะความคงทนแข็งแรงของกระเบื้องไม่มีใยหินสู้กระเบื้องใยหินไม่ได้เลย นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ยังได้รับผลกระทบด้วย เพราะจำเป็นต้องปรับลดคนงานกว่า 3,000-4,000 คน” นายอุฬารกล่าว

นายอุฬารกล่าวด้วยว่า ตามนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ใช้การตกลงของการประชุมสุขภาพโลก (WHA) ให้ระวังการใช้มาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสมของชนิดของเส้นใยหิน และไม่สนับสนุนให้เลิกใช้ทันที ถ้ามีโรคเหตุจากใยหิน แต่ในประเทศไทยไม่มีโรคเหตุจากใยหินเกิดขึ้นที่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจน จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ประเทศไทยจะยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์

“ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ยังไม่มีวัสดุใดในโลกนี้ที่สามารถทดแทนคุณค่าของใยหินได้ โดยเฉพาะกับกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งต้องรับแสงแดด สายฝน อยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระเบื้องใยหินมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุด กระเบื้องไม่มีใยหินแข็งแกร่งน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว และการผลิตกระเบื้องที่ใช้สารทดแทนจะมีต้นทุนที่ผันผวนตามราคาน้ำมัน ราคากระดาษโลก และพลังงานที่ต้องใช้เพิ่มอีกกว่า 20% อีกทั้งกำลังการผลิตเส้นใยทดแทน (PVA) ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการทั้งหมดในประเทศไทยหากให้เลิกใช้ใยหินทั้งหมด” นายอุฬารกล่าว

ดร.อัศนี ชันทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระเบื้องมุงหลังคานั้นอยู่ภายนอกอาคาร วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาเป็นส่วนผสมก็คือใยหินไครโซไทล์ ที่ช่วยทำให้สินค้ามีความคงทน แข็งแกร่ง ผู้ใช้ไม่ต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาบ่อยๆ

ส่วนประเด็นด้านอันตรายต่อสุขภาพนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่คำนึงถึง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ที่ออกมาระบุได้ชัดเจนว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากการสัมผัสใยหิน (เมโสเธลิโอมา) แต่อย่างใด

“หากจะบอกว่ากระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนผสมของใยหินถือเป็นสินค้าที่หาผลิตภัณฑ์อื่นมาทดแทนไม่ได้หากเทียบกันในด้านของคุณภาพและราคา ก็คงไม่ผิด” ดร.อัศนีกล่าว

นายวิเชียร ผู้พัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทไทยกระเบื้องหลังคา จำกัด กล่าวว่า หากภาครัฐยกเลิกการใช้ใยหินภายใน 3 เดือน บริษัทจำเป็นต้องหยุดกิจการทันที และส่งผลกระทบต่อคนงานในโรงงานจำนวน 170 คนต้องตกงานทันที เนื่องจากบริษัทมีขนาดเล็ก และไม่มีองค์ความรู้ในการผลิตที่ใช้สารทดแทนใยหินที่มากพอ

อีกทั้งการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่มีใยหิน มีการลงทุนสูง ไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 30 ล้านบาท ซึ่งหากต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรทั้งหมดเพื่อไปผลิตกระเบื้องที่ไม่มีใยหิน จำเป็นต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตนานถึง 3-4 ปี

“ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากการใช้สารทดแทนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต” นายวิเชียรกล่าว

นายสุวิทย์ ปัญญาเสวนมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทโปลีเท็กซ์ อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าเบรกรายใหญ่ในประเทศไทย กล่าววว่า บริษัทมองว่าแร่ใยหินไครโซไทล์จึงเป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้ในการผลิตเป็นผ้าเบรกรถยนต์ เนื่องจากมีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องทนความร้อน ทนไฟ ยืดหยุ่น ซึ่งได้พิสูจน์แล้วกว่า 30 ปี

นอกจากนี้ จากการวัดประสิทธิภาพการทำงานของผ้าเบรกไม่มีใยหินกับผ้าเบรกใยหิน พบว่า ผ้าเบรกที่ใช้ใยหินไครโซไทล์ มีประสิทธิภาพการหยุดรถได้ดีกว่าผ้าเบรกที่ใช้สารทดแทน โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนักมาก ผ้าเบรกต้องทำงานหนักและมีความร้อนสูง หากใช้ผ้าเบรกที่ทำมาจากสารทดแทนที่มีคุณสมบัติทนความร้อนด้อยกว่าใยหินไครโซไทล์ย ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากกว่า