เนื้อหาวันที่ : 2011-02-01 14:34:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1929 views

รักษาสเกลเสริมศักยภาพอุตฯหม่อนไหม

หลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่อุตสาหกรรมหม่อนไหมจีนก็ได้รับผลกระทบทั้งขนาดเล็กและใหญ่ จนเมื่อปี 2553 สถานการณ์กลับดีขึ้นและทำรายได้ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

ตั้งแต่ย่างเข้าสู่ศตวรรษใหม่นี้เป็นต้นมา การผลิตหม่อนไหมจีนได้รับผลกระทบขนาดเล็กหนึ่งครั้งและขนาดใหญ่หนึ่งครั้ง ได้เริ่มฟื้นตัวเมื่อเข้าสู่ปี ๒๕๕๓ สถานการณ์การผลิตปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น รายได้จากการเลี้ยงไหมดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

ผลผลิตหม่อนไหมเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ
จากการรวบรวมสถิติจากหน่วยงานสถิติที่รับผิดชอบในส่วนการผลิตหม่อนไหมทุกมณฑล (เขต/เมือง) ปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา มีพื้นที่เพาะปลูกต้นหม่อนทั้งหมด ๕,๐๔๑,๖๖๖ ไร่ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น ๑๐๘,๓๓๓ ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๒ ได้แจกไข่ไหมจำนวน ๑๕.๗๖ ล้านกล่อง (ใบ) เพิ่มขึ้น ๑๔๐,๐๐๐ กล่อง (ใบ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๘ ผลผลิตรังไหมทั้งหมดอยู่ที่ ๖๑๖,๐๐๐ ตัน เพิ่มขึ้น ๕๙,๐๐๐ ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๗

เนื่องจากรังไหมราคาแพง เกษตรกรหม่อนไหมจึงเกิดความกระตือรือร้นในการผลิต เร่งจัดการดูแลสวนหม่อนและห้องผลิตไหม จึงส่งผลให้ปริมาณผลิตไหมเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการคำนวณตัวเลขทั้งประเทศโดยเฉลี่ยแล้วรังไข่หนึ่งกล่อง (ใบ) สามารถผลิตรังไหมได้ ๓๙.๑ กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๗ หรือสวนหม่อนหนึ่งไร่สามารถผลิตรังไหมได้ ๑๒๒.๑๖ กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๓

เนื่องจากปี ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ ราคารังไหมตกต่ำติดต่อเป็นเวลาสองปี อุตสาหกรรมแพรไหมขาดแคลนวัตถุดิบจำนวนมากจึงส่งผลให้ปี ๒๕๕๓ ราคารังไหมไต่ขึ้นสูงต่อเนื่อง เกษตรกรที่เลี้ยงไหมมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ราคารังไหมเฉลี่ยทั้งประเทศปี ๒๕๕๓ อยู่ที่ ๑,๕๔๔ หยวนต่อ ๕๐ กิโลกรัม เพิ่มขึ้น ๔๖๙ หยวน หรือร้อยละ ๔๓.๖

โดยราคารังไหมฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงอยู่ที่ ๑,๕๗๔ แพงกว่ารังไหมฤดูใบไม้ผลิ ๕๘ หยวน รังไหมมณฑลเจียงซูและซานตงคุณภาพดีที่สุดจึงจำหน่ายในราคาแพงที่สุด คือจำหน่ายในราคา ๑,๘๓๙ และ ๑,๘๖๔ ต่อ ๕๐ กิโลกรัมตามลำดับ

ซึ่งบางพื้นที่ในสองมณฑลดังกล่าวสามารถจำหน่ายรังไหมได้ในราคา ๒,๑๐๐ หยวนต่อ ๕๐ กิโลกรัม เกษตรกรหม่อนไหมเกิดกำไรจากการผลิตหม่อนไหมกันถ้วนหน้า เพราะไม่เพียงแต่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคารังไหมยังอยู่ในระดับสูงอีกด้วย รายได้จากการผลิตรังไหมทั่วประเทศอยู่ที่ ๑๙,๑๑๐ ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ ๗,๐๙๐ ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๙ สร้างสถิติใหม่รายได้สูงสุด

ผลสำเร็จที่ได้มาอย่างยากลำบาก
สภาพอากาศปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาไม่เอื้อต่อการผลิตหม่อนไหมทั่วประเทศ ครึ่งปีแรกของปี ๒๕๕๓ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ประสบภัยแล้งรุนแรงในรอบหลายปีที่ผ่านมา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลางและล่างอุณหภูมิต่ำและครึ้มฝนตลอดฤดูใบไม้ผลิ ส่งผลให้ต้นหม่อนผลิใบช้า ระยะการเลี้ยงไหมจึงต้องเลื่อนไปประมาณ ๑๐ วัน ส่วนในฤดูใบไม้ร่วงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีและเขตเลี้ยงไหมในภาคเหนืออุณหภูมิสูงต่อเนื่องและมีความชื้นสูง ส่งผลให้ตัวไหมที่โตเต็มที่เกิดโรคหรือชักไหมไม่เป็นรัง

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยชี้แนะวิธีการและเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมและป้องกันโรคแก่เกษตรกรไหม เพื่อลดความเสียหายที่เกิดให้น้อยที่สุด บางพื้นที่ใช้วิธีอุดหนุนพันธุ์ไหมและกล้าต้นหม่อนเพื่อกระตุ้นเกษตรกรฟื้นฟูการผลิต ปี ๒๕๕๓ จึงสามารถผลิตเพิ่ม ๑๔๐,๐๐๐ ใบได้ และเพื่อเพิ่มผลผลิตไหมเฉลี่ยต่อไร่

หน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตไหมทุกระดับให้ความสำคัญกับการชี้แนะเทคนิคการผลิต ช่วยเหลือเกษตรกรวางแผนการผลิต เลี้ยงไหมอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเวลา ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ป้องกันโรคภัยทันกาล และหลายปีนี้ สหกรณ์ความร่วมมือเกษตรกรไหมพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการผลิตเอง เก็บเกี่ยวเอง รมเอง จำหน่ายเอง จึงมีประสิทธิภาพในการโน้มน้าวให้บริษัทตั้งราคารับซื้อที่เหมาะสม สามารถรับประกันรายได้เกษตรกรไหม

ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่มีอยู่

แม้จะได้รับผลสำเร็จที่น่ายินดี แต่อุตสาหกรรมหม่อนไหมยังคงมีปัญหาที่ต้องได้รับการใส่ใจ
๑.ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในตลาดแพรไหมยังคงอยู่ เนื่องจากปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างไม่มีการวางแผน เมื่อราคารังไหมตกต่ำเกษตรกรลดหรือเลิกเลี้ยงไหม แต่เมื่อรังไหมราคาสูง หลายพื้นที่เริ่มแห่เลี้ยงไหมเป็นการใหญ่ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตระลอกใหญ่

๒.ระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหมไม่สมบูรณ์ การถ่ายทอดเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ การเพาะปลูกสวนหม่อน การจัดการห้องเลี้ยงไหม และการป้องการโรคและแมลงเป็นต้นเป็นไปอย่างลำบาก ๓.อัตรากล้าหม่อนปลอดเชื้อที่ผ่านเกณฑ์ลดลงทุกปี เพราะขาดแคลนวิธีการป้องกันและรักษา

๔.ลงทุนน้อย พื้นฐานการผลิตหม่อนไหมจึงอ่อนแอ การผลิตในสวนหม่อนและห้องเลี้ยงไหมล้าหลัง ๕.เนื่องจากการปฎิรูปและพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า การผลิตและจำหน่ายพันธุ์ไหมจึงไม่คึกคักเท่าที่ควร โรงเพาะไหมหลายแห่งจึงไม่สามารถปฎิบัติตามได้

อุตสาหกรรมนี้จะมีประสิทธิภาพหากมีสเกลที่มั่นคง

สาเหตุที่รังไหมราคาสูงในปัจจุบันเป็นเพราะโรงงานแปรรูปขาดแคลนวัตถุดิบติดต่อกันเป็นเวลาสองปี หากมองตลาดแพรไหมทั้งในและต่างประเทศจะเห็นว่า ความต้องการแพรไหมไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอย่างชัดเจน ดังนั้นภาระกิจสำคัญในการผลิตหม่อนไหมทั้งประเทศในปี ๒๕๕๔ คือรักษาสเกลการผลิตให้มั่นคงเเละเพิ่มประสิทธิภาพ

ต้องกระตือรือร้นในการโน้มนำเกษตรกรไหมภาคตะวันออกผลิตไหมในสเกลที่มั่นคง และพยายามพัฒนาคุณภาพและผลลิตต่อไร่ รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง การผลิตหม่อนไหมให้เน้นการลงทุนพื้นฐานเป็นสำคัญ ปรับปรุงสวนหม่อน ห้องเลี้ยงไหม และฟาร์มเพาะไหม สร้างสวนหม่อนและห้องเลี้ยงไหมที่ได้มาตรฐานสมัยใหม่จำนวนหนึ่ง

โดยต้องแยกแหล่งที่อยู่อาศัยของคนกับไหมออกจากกัน เร่งพัฒนางานป้องกันควบคุมและวิจัยโรคในหม่อนและไหม เน้นให้อัตราการปลอดโรคในพันธุ์ไหมสูงขึ้น เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการผลิตหม่อนไหม และยังต้องเพิ่มการอบรม ถ่ายทอด ชี้แนะเทคโนโลยีการผลิตหม่อนไหมแก่เกษตกรเป็นต้น เพื่อให้การผลิตหม่อนไหมจีนพัฒนาอย่างมั่นคง แข็งแรง และต่อเนื่อง