เนื้อหาวันที่ : 2011-01-31 10:35:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 772 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 24-28 ม.ค. 2554

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,166.3พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 35.2 พันล้านบาท    หรือคิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP  ทั้งนี้  การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ  หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน  และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ที่ลดลงสุทธิ 31.5 12.3 และ 4.3 พันล้านบาท ตามลำดับ 

ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 12.9 พันล้านบาท  ซึ่งสะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.3 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี และยางพารา เนื่องจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังคงทรงตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นจูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งปี 53 หดตัวร้อยละ -3.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาดในช่วงต้นปี และประสบปัญหาอุทกภัยและวาตภัยในช่วงปลายปี

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 53 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ร้อยละ 22.7  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.0 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะยางพารา  มันสำปะหลัง  และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ทั้งปี 53 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.7 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16.6

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค.53  หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือน พ.ย. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7  โดยมีสาเหตุหลักจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป) และฮาร์ดดิสไดรฟ์ที่หดตัวลง ผลจากอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันปีก่อน

เนื่องจากมีการผลิตสินค้าตัวใหม่ออกมาในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหลักของไทยหลายสาขายังคงขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องใช่ไฟฟ้า วิทยุโทรทัศน์ และยานยนต์ ตามการขยายตัวของการส่งออกไปยังอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และทั้งปี 53 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 14.5  สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 63.4 ของกำลังการผลิตรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อย 63.6 และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ MPI หดตัวลง

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง