เนื้อหาวันที่ : 2011-01-28 15:38:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1126 views

ดัชนีอุตฯ ธ.ค. ปี 53 ลดลงอยู่ที่ 2.48%

ดัชนีอุตฯ ธ.ค.-2.48% เหตุ Hard disk drive ชะลอการผลิต หลังทำยอดเข้าเป้า ขณะที่กลุ่มยานยนต์-แอร์-ปูนซีเมนต์ ยังโตต่อเนื่อง

ดัชนีอุตฯ ธ.ค.-2.48% เหตุ Hard disk drive ชะลอการผลิต หลังทำยอดเข้าเป้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง-เสื้อผ้าสำเร็จรูป ต้นทุนพุ่งจึงผลิตน้อย ขณะที่ การผลิตรถยนต์-แอร์-ปูนซีเมนต์ ยอดผลิตและจำหน่ายยังขยายตัวได้ดี โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงถึง 63.39%

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนธันวาคม 2553 ลดลงเล็กน้อย -2.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต 63.39% อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ MPI เดือน ธ.ค.ลดลงเมื่อเทียบกับเดีอนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิต Hard disk drive การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขณะที่อุตสาหกรรมหลัก เช่น การผลิตรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ปูนซีเม็นต์ ยังมีอัตราการขยายตัวได้ดี

การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายลดลง 18.5%และ 13.4% ตามลำดับ เนื่องจากเมื่อปีก่อนมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความคุ้มค้าและราคาแข่งขันได้ จึงได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขณะที่ปีนี้ผู้ผลิตไม่ได้มีการเร่งกำลังการผลิตแต่อย่างไร เนื่องจากสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมาย

โดยแนวโน้มในปี 2554 ยังมีอัตรากการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเติบโตตามความต้องการอุปกรร์จัดเก็บข้อมูลสำหรับมัลติมีเดียความคมชัดสูงที่มีผู้ใช้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Hard disk drive ขยายตัวได้เป็นอย่างดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออก

การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง 11.4% และ 12.1% ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม และดินถล่มทำให้สวนยางพาราเกิดความเสียหาย จึงส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายลดลง ดังกล่าว

เสื้อผ้าสำเร็จรูป เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง 4.4% และ 0.2% ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะฝ้ายที่ราคาสูงขึ้นประมาณ 30% รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 10% จึงส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่าย ดังกล่าว

ขณะที่ การผลิตรถยนต์  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 16.5% และ 17.8%ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะรถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์ ที่ออกมากระตุ้นตลาดทำให้ตลาดรถยนต์คึกคักเป็นอย่างยิ่ง

ส่งผลให้การจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800 cc.เพิ่มสูงขึ้นถึง 33.6%สำหรับตลาดในประเทศ และส่งออกเพิ่มขึ้น 7.6% นอกจากนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรปรับตัวสูงขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งผลต่อยอดการจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะในรถกะบะขนาด 1 ตัน 

การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 63.8%และ48.9% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตรทำให้ทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และยุโรปอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น

การผลิตปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 9.6%และ8.2% เนื่องจากภาวะการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในต่างจังหวัดมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับ ซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆหลังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

นางสุทธินีย์ สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนธันวาคม 2553 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 190.24 ลดลง 2.48% จากระดับ 195.07 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 195.96 เพิ่มขึ้น 1.96% จากระดับ 192.19 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 181.90 เพิ่มขึ้น 5.48% จากระดับ 172.44 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 123.28 เพิ่มขึ้น 4.21% จากระดับ 118.29 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 142.56 เพิ่มขึ้น 1.56% จากระดับ 140.36  โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.39%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม