เนื้อหาวันที่ : 2011-01-19 11:46:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 635 views

คลังเผยรัฐเก็บรายได้ทะลุเป้าต่อเนื่อง Q1/54 ทะลุเป้ากว่า 4 หมื่นล้าน

          นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยรัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนธันวาคมสูงกว่าเป้าหมายเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 11.7

          เดือนธันวาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 121,787 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.9) ทั้งนี้ นอกจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จึงเร่งซื้อสินค้าคงทนมากขึ้น ประกอบกับในเดือนนี้มีการจัดงาน Motor Expo ทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์สูงกว่าที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ รายได้ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษียาสูบ และภาษีธุรกิจเฉพาะ

          ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม – ธันวาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 392,758 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 41,062 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 เป็นผลจากการจัดเก็บของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ 26,515 13,373 1,945 และ 1,614 ล้านบาท ตามลำดับ

          นายนริศฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 ที่สูงกว่าเป้าหมายในอัตราที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2554 จะสูงกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนธันวาคม 2553 และไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554
          ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเบื้องต้นเดือนธันวาคม 2553 จัดเก็บรายได้สุทธิ 121,787 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 รายได้รัฐบาลสุทธิเท่ากับ 392,758 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 41,062 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.5) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

          1. เดือนธันวาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 121,787 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.9) เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมายเกือบทุกประเภท ที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษียาสูบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,022 3,128 2,158 1,953 และ 1,396 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 54.4 42.8 13.8 และ 73.3 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงถึง 8,881 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น จึงเร่งซื้อสินค้าคงทนมากขึ้น ประกอบกับในเดือนธันวาคม 2553 มีการจัดงาน Motor Expo จึงทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้

          นอกจากนี้ ภาษียาสูบ ภาษีสุรา และภาษีเบียร์ ยังจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 42.8 30.0 และ 15.1 ตามลำดับ และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาษียาสูบที่จัดเก็บได้สูงถึง 7,200 ล้านบาท เป็นผลจากผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษียาสูบ สุรา และเบียร์ จึงเร่งชำระภาษี

          2. ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม – ธันวาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 392,758 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 41,062 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.5) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บที่สูงกว่าประมาณการ 41,833 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 จากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ผลการจัดเก็บรายได้แยกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
          2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 261,558 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,515 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.6) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะสูงกว่าประมาณการ 13,524 8,079 และ 2,988 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าและจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 8.8 และ 4.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 118.3 เนื่องจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะที่จัดเก็บจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลงเหลือร้อยละ 0.1 (จากร้อยละ 3) ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553

          2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 111,837 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,373 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.9) โดยภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้เป็นจำนวนถึง 23,035 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,396 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.4 เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ภาษียาสูบ ภาษีสุรา และภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,267 1,719 และ 1,519 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตสุราและยาสูบคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจึงเร่งชำระภาษี

          2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 25,405 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,945 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.1) สาเหตุสำคัญจากการจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 1,760 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทเฉลี่ย 2 เดือน (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2553) เท่ากับร้อยละ 24.3 และ 12.2 ตามลำดับ

          2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 26,006 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,614 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.8) เป็นผลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวงนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิปี 2553 สูงกว่าประมาณการ 2,039 และ 1,379 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอทยอยนำส่งรายได้จำนวน 3,545 ล้านบาท ออกเป็น 3 งวด คือในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมเดือนละ 1,000 ล้านบาท และเดือนมกราคม 2554 จำนวน 1,545 ล้านบาท และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ 803 ล้านบาท

          2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 25,711 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 437 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.7 เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2553 มีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 2,998 ล้านบาท

          2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 51,838 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,531 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 44,654 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 7,184 ล้านบาท