เนื้อหาวันที่ : 2011-01-19 09:36:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 617 views

คต.เตือนผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ

          เตือนผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือกฎหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกา

          นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 วุติสภาสหรัฐอเมริกาได้มีมติเห็นชอบผ่านกฎหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารของสหรัฐฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ (FDA Food Safety Modernization Act หรือ S.510) โดยคาดว่าจะบังคับใช้ภายในปี 2554 ครอบคลุมอาหารทุกชนิด ยกเว้น เนื้อวัว หมู ไก่ และ ไข่ ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เป็นผู้กำกับดูแล กฎหมายดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

          1. FDA Food Safety Modernization Act เป็นการแก้ไขกฎหมาย Food & Drugs Cosmetics Act (FFDCA) เพื่อเพิ่มอำนาจให้หน่วยงาน Secretary of Health and Human Service ภายใต้ FDA ในการตรวจสอบข้อมูลรายงานเกี่ยวกับการผลิตอาหาร ที่มีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีการปนเปื้อน หรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ และอาจจะถึงแก่ชีวิตได้

          2. ให้อำนาจ FDA ในการระงับซึ่งการจดทะเบียนโรงงานผลิตเป็นการชั่วคราว หากพบว่าอาหารนั้น ๆ มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือต่อชีวิตของมนุษย์หรือสัตว์

          3. ให้ FDA ประเมินและเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการ re-inspection โรงงานผลิต การเรียกคืนสินค้าอาหาร รวมทั้งการประเมินคุณสมบัติผู้นำเข้า

          4. ให้ FDA เพิ่มความถี่ในการตรวจโรงงานผลิตสินค้าและรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี

          5. ให้ FDA ปรับปรุงการติดตาม ตรวจสอบหาสาเหตุกรณีผลไม้และพืชผักนั้นก่อให้เกิดความเจ็บป่วยที่มาจากอาหาร

          6. แก้ไข/ ปรับปรุงมาตรฐานการกักกันสินค้าอาหาร ซึ่งจะดำเนินการได้ ก็ต่อเมื่อ FDA มีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าสินค้าอาหารมีการปนเปื้อน หรือปิดฉลากไม่ถูกต้อง

          7. กำหนดให้มีการแจ้งล่วงหน้า ( Priority Notice) สินค้าอาหารนำเข้า และให้เพิ่มเติมข้อมูลรายชื่อประเทศที่ปฏิเสธสินค้าอาหารชนิดเดียวกับที่จะนำเข้ามายังสหรัฐฯ

          8. ให้อำนาจ FDA ในการดำเนินการและจัดทำข้อตกลงกับรัฐบาลต่างชาติเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบโรงงานในต่างประเทศที่มีการจดทะเบียนไว้แล้ว ทั้งนี้ ให้ปฏิเสธการนำเข้าอาหาร กรณีการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารในต่างประเทศ ถูกปฏิเสธโดยเจ้าของโรงงาน ผู้ดำเนินการหรือตัวแทน

          9. ­­ให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอาหารที่ไม่ผ่านข้อบังคับต่างๆ ของ FFDCA รวมทั้งให้อำนาจ FDA ในการออกข้อบังคับให้มีการจัดหาใบรับรองว่าสินค้าอาหารนั้นๆ มีการปฏิบัติตามกฎหมาย FFDCA ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ใช้เป็นเงื่อนไขในการอนุญาตนำสินค้าอาหารเข้าประเทศสหรัฐ

นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า FDA อาจจัดตั้งสำนักงาน FDA ในต่างประเทศ เพื่อให้อาหารที่จะส่งออกมายังสหรัฐฯ มีความปลอดภัย ทั้งนี้ สหรัฐฯเป็นตลาดหลักที่สำคัญในการส่งออกสินค้าอาหารของไทย

โดยในปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 89,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ทั้งนี้ ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกควรศึกษารายละเอียดของกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะข้อบทเกี่ยวกับการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารนำเข้า