เนื้อหาวันที่ : 2006-04-04 15:01:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1201 views

ปตท.ยันไม่ได้ทำให้รัฐและผู้บริโภคเสียประโยชน์ตั้งแต่แปรรูป

ปตท.แจง มิได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งผู้ถือหุ้น และผู้บริโภคอย่างแน่นอน ระบุไทยใช้ก๊าซฯราคาถูกกว่าประเทศอื่นหลายเท่า ชี้ ที่ผ่านมา ปตท. ได้เจรจากับผู้รับสัมปทานจนได้ส่วนลดมาแล้วและจะมีส่วนลดในอนาคตอีก รวมมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนลดทั้งหมดส่งต่อให้ผู้บริโภค

ปตท.ยันไม่ได้ทำให้รัฐและผู้บริโภคเสียประโยชน์ ตั้งแต่แปรรูป ปตท. ไม่เคยปรับราคาค่าผ่านท่อ และแยกบัญชีของระบบท่อส่งก๊าซฯ ไว้ตั้งแต่ต้น  พร้อมที่จะแยกเป็นบริษัทได้ทันทีหากรัฐยืนยัน ระบุไทยใช้ก๊าซฯราคาถูกกว่าประเทศอื่นหลายเท่า   ชี้ ที่ผ่านมา ปตท. ได้เจรจากับผู้รับสัมปทานจนได้ส่วนลดมาแล้วและจะมีส่วนลดในอนาคตอีก รวมมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนลดทั้งหมดส่งต่อให้ผู้บริโภค

นายจิตรพงษ์  กว้างสุขสถิตย์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  ปตท.พร้อมแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน  และได้ดำเนินการแยกกิจการท่อส่งก๊าซฯ ในลักษณะแบ่งแยกตามบัญชีไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545   แต่ที่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นรูปบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการขอให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน  เพื่อพิจารณาแนวทางให้สอดคล้องกับการปรับปรุงกิจการไฟฟ้าที่เดิมกำหนดให้เป็นแบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าคือ แยกสายส่งออกมาเพื่อให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายสามารถใช้บริการได้แต่ต่อมาได้ยกเลิกไป เนื่องจากมีจุดอ่อนในทางปฏิบัติที่เกิดในหลายประเทศ จึงไม่มีการแยกสายส่ง

ทั้งนี้ ปตท. ขอยืนยันว่า การไม่ได้จัดตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซฯ ดังกล่าวมิได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งผู้ถือหุ้น และผู้บริโภค   เพราะตั้งแต่หลังแปรรูป ปตท. มิได้มีการปรับค่าผ่านท่อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด    อย่างไรก็ตามขณะนี้ปตท.เตรียมจะหารือกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางต่าง ๆ รวมทั้งประเด็นภาษีที่จะเกิดจากการแยกบริษัทท่อส่งก๊าซฯต่อไป

นายจิตรพงษ์  กล่าวว่า   โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ ปตท. จำหน่ายให้กฟผ.นั้น ประกอบด้วย ส่วนหลัก คือ  1. ค่าเนื้อก๊าซฯ ปากหลุม เป็นส่วนของผู้รับสัมปทาน ซึ่งมีหลายบริษัท และภาครัฐ  เป็นผู้อนุมัติสูตรราคา
 
ส่วนนี้คิดเป็นประมาณ  90 % ของราคาก๊าซทั้งหมด   2. ค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการ   คิดเป็น 10 %  ซึ่งส่วนนี้ภาครัฐเป็นผู้อนุมัติหลักเกณฑ์และกำหนดอัตราค่าผ่านท่อเช่นกัน  และตั้งแต่มีการแปรรูป ปตท.จนถึงปัจจุบันก็มิได้มีการปรับเปลี่ยนราคาในส่วนนี้เลยสำหรับราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านั้น นับเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกและมีการปรับราคาขึ้นในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำมันคือ จากปี พ.ศ. 2544(ก่อนแปรรูป ) ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ)  อยู่ที่เฉลี่ย 23 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล 

ปัจจุบันเพิ่มเป็น 57  เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล  หรือเพิ่มขึ้น  150 %  แต่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับจาก 145 บาท/ล้านบีทียู  เพิ่มเป็น 188 บาท/ล้านบีทียู หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นเพียง  30 %  เท่านั้น   ทั้งนี้เนื่องจากสูตรราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ อิงกับราคาน้ำมันเพียง 30 % ในขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่จะอิงราคาน้ำมันทั้งหมด   ทำให้ปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติของไทยมีราคาถูกมากและ ถูกกว่าน้ำมันถึงครึ่งหนึ่ง  รวมทั้งราคาก๊าซฯ ของไทย ยังถูกกว่าราคาก๊าซฯในประเทศ อื่น ๆ   เช่น ยุโรป และสิงคโปร์ ถึง 1 เท่าตัว ถูกกว่าสหรัฐอเมริกามากกว่า 1 เท่าตัวทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทยเราถูกกว่าประเทศอื่น ๆ มาก   โดยเฉพาะปี  พ.ศ. 2548  การใช้ก๊าซธรรมชาติสามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ถึง  200,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเตา

นอกจากนี้  ปตท.ยังได้พยายามเจรจากับผู้รับสัมปทานเพื่อขอลดราคาเนื้อก๊าซได้จำนวนมาก โดยที่ผ่านมาสามารถลดราคาเนื้อก๊าซฯ จากผู้ผลิตไปแล้วกว่า 14,000   ล้านบาท และในอนาคตจะมีการทยอยปรับลดอีก รวมมูลค่าที่ลดลงได้ทั้งหมดเกือบ  100,000 ล้านบาท  ซึ่งทั้งหมดได้ส่งต่อไปเป็นส่วนลดค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า   ทั้งนี้กำไรของ ปตท.จากส่วนที่ขายก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้า คิดเป็นจำนวนไม่มาก  คือ ประมาณ  9%  ของกำไรทั้งหมด  โดยกำไรส่วนใหญ่ของ ปตท.มาจากธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและบริษัทที่ ปตท.เข้าไปร่วมทุน  อาทิ  ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  ธุรกิจปิโตรเคมี เป็นต้น