เนื้อหาวันที่ : 2011-01-18 09:31:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1378 views

รศก. จี้หน่วยงานเร่งแก้ปัญหามาบตาพุด

ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 อ้างเศรษฐกิจฟื้นตัว รศก. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหามาบตาพุดระยะต่อไป ย้ำเน้นดูแลปัญหาด้านนิเวศวิทยา

ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 อ้างเศรษฐกิจฟื้นตัว รศก. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหามาบตาพุดระยะต่อไป ย้ำเน้นดูแลปัญหาด้านนิเวศวิทยา

วานนี้ (17ม.ค.54) เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(รศก.) ครั้งที่ 1/2554 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอ โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็น 2.25 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

(2) เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศ และ (3) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นซี่งทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้ามากยิ่งขึ้น

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยทรงตัวอยู่ในช่วง 30.40-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีสาเหตุสำคัญจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มผู้ค้าน้ำมันและทองคำ ซึ่งปรับตัวในลักษณะเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาผลการศึกษาเบื้องต้นศักยภาพในการรองรับอุตสาหกรรมของพื้นที่มาบตาพุด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอ โดยสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1) นิยามของศักยภาพในการรองรับอุตสาหกรรมของพื้นที่มาบตาพุด (Carrying Capacity) หมายถึง ระดับความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งภายใต้ขีดจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งทรัพยากรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านนิเวศวิทยา และด้านสังคม ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โดยขอบเขตพื้นที่การศึกษาครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ในเขตควบคุมมลพิษ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เมื่อ 30 เมษายน 2552 คิดเป็นพื้นที่รวม 417.05 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 260,660 ไร่ 2)ผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่าขณะนี้ความสามารถในการรองรับด้านกายภาพสามารถรองรับในเรื่องพื้นที่ ปริมาณน้ำและโครงสร้างพื้นฐานได้ ขณะที่ความสามารถในการรองรับด้านนิเวศวิทยายังคงมีปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย

สำหรับความสามารถในการรองรับด้านสังคม ยังมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งในด้านสาธารณสุขและการศึกษา ดังนั้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดในระยะต่อไปจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านนิเวศวิทยาเป็นอันดับแรก โดยจะต้องดำเนินการลดสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีอยู่เดิมให้อยู่ในระดับมาตรฐานและควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาของพื้นที่มาบตาพุดในระยะต่อไป ดังนี้ 1) มอบหมายกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดประเภทอุตสาหกรรม/กิจกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่าย

2)มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม (BOI) พิจารณาทบทวนมาตรการการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการขยายอุตสาหกรรม และการดำเนินกิจการใหม่ที่ก่อให้เกิดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs: เบนซีน 1,2-ไดคลอโรอีเทน และ 1,3-บิวทาไดอีน) สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและจะลงทุนเพื่อลดการก่อให้เกิดสารอินทรีย์ระเหยง่ายจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนเช่นเดิม

3)มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุมัติ อนุญาต การลดและขจัดมลพิษ และสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายสำหรับควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากแหล่งกำเนิดที่ยังไม่มีมาตรฐานควบคุม

4)มอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จังหวัดระยอง เพื่อศึกษาศักยภาพและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดระยอง และเสนอแนะแนวทางเลือกที่เหมาะสมบนพื้นฐานการยอมรับของประชาชนและศักยภาพการรองรับของพื้นที่ และ5)เห็นควรให้มีคณะทำงานระดับพื้นที่โดยให้รายงานต่อคณะอนุกรรมการติดตามรายงานผลการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อดำเนินการติดตามแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ต่อไป
 
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย