เนื้อหาวันที่ : 2011-01-17 10:08:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 664 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 10-14 ม.ค. 2554

การจ้างงานเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน ลดลงประมาณ 1.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.4  โดยการจ้างงานภาคเกษตรมีจำนวน 15.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3 แสนคน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกว่าปีที่ผ่านมาทำให้พืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้มีผลผลิตออกมามาก

ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 7.6 ล้านคน ลดลง 1.8 แสนคน จากสาขาการผลิตไม้ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ และสาขาการผลิตสิ่งทอ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพ.ย.53 ที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 63.6 ของกำลังการผลิตรวม และการจ้างงานภาคบริการมีจำนวน 15.4 ล้านคน ลดลง 9.5 หมื่นคน จากสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาบริการสุขภาพ และคนรับใช้ ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 2.8 แสนคน จากการจ้างงานภาคการเกษตรที่ลดลงตามปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ 

ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนพ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 0.9  ของกำลังแรงงานรวม โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.9 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานในภาคบริการ 1.0  แสนคน ภาคอุตสาหกรรม 9.0  หมื่นคน ภาคการเกษตร 1.1 แสนคน และผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 9.0  หมื่นคน

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เดือน พ.ย. 53  อยู่ที่ 2.1ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 แสนล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวเร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินฝาก โดยมีปัจจัยหลักมาจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากวิเคราะห์ด้านของเงินฝากจะพบว่า เงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว)

ในขณะที่สินเชื่อขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากความต้องการสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง ตามเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม เงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาทในเดือน พ.ย. 53 โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากต่างชาติที่ส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น

ในวันที่ 12 ม.ค. 54 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือน ก.ค.53 โดยได้ประกาศปรับขึ้นจากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25  โดย กนง.ให้เหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ว่า เป็นผลจากการที่ (1)เศรษฐกิจไทยขยายตัวเข้าสู่แนวปกติ และ (2) แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป  ประกอบกับแนวโน้มราคานํ้ามันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน  ในขณะเดียวกันแรงกดดันด้านราคาที่มาจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าจะมีมากขึ้นตามลําดับ

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยได้รับปัจจัยบวกจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จาก รายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2553 ขยายตัวได้ในระดับสูงร้อยละ 19.9 จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.9 บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคครัวเรือนในปี 2553 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง