เนื้อหาวันที่ : 2011-01-14 11:03:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 648 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 14 ม.ค. 2554

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 53 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 71.9  
-  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมประจำเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ระดับ 71.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 70.3 ในเดือน พ.ย. 53 ทั้งนี้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.53 ที่เพิ่มขึ้นทั้ง 3 รายการ มาจากปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. พร้อมกับมาตรการลดค่าครองชีพที่ต่ออายุออกไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นและการส่งออกเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนว่า ประชาชนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจเพิ่มอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์ปัญหาจากน้ำท่วมได้คลี่คลายลง และถือเป็นการส่งสัญญาณการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

นอกจากนี้นโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล ที่มีจุดประสงค์ที่จะลดความเหลื่อมล้ำโดยการลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนยังถือเป็นการสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนของประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนของไทยในปี 54 จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า มาอยูที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0)

2.  ธนาคารโลกชี้เงินทุนไหลเข้าเป็นปัจจัยเสี่ยง คาดศก.โลกปีนี้โต 3.3%
-  นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายแนวโน้มการพัฒนาของธนาคารโลกกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของกระแสเงินทุนไหลเข้าระหว่างประเทศ ช่วยหนุนหลังการฟื้นตัวในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ แต่ถ้าประเทศรายได้ระดับปานกลางมีเงินไหลเข้ามาในปริมาณมากเกินไปอาจคุกคามต่อการฟื้นตัวในระยะกลางได้ โดยเฉพาะถ้าค่าเงินแข็งค่าอย่างรวดเร็วหรือเกิดฟองสบู่ในภาคสินทรัพย์ 

ทั้งนี้ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยายตัวที่ 3.3% ต่ำกว่าปีกลายที่โต 3.9% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจากศักยภาพที่หดตัวของประเทศกำลังพัฒนาและการปรับโครงสร้างของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ปีหน้าเศรษฐกิจจะเติบโตเร็วขึ้นที่ราว 3.6%

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ดึงดูดการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมมายังประเทศดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่าในปี 54 นี้ ปัจจัยดังกล่าวจะยังคงมีอยู่และจะเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะไม่ผันผวนเหมือนเช่นในปีก่อนหน้าที่เงินบาทแข็งค่ากว่าร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

3.  การจ้างงานออสเตรเลียเดือน ธ.ค. 53 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2,300 ตำแหน่ง
-  การจ้างงานออสเตรเลียเดือน ธ.ค. 53 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2,300 ตำแหน่ง น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการไว้ที่ 25,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็นการจ้างงานเต็มเวลาที่ 1,700 ตำแหน่ง และนอกเวลาที่ 600 ตำแหน่ง สะท้อนถึงการขยายตัวในภาคการผลิตที่ลดความร้อนแรงลง จากค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ที่แข็งและอัตรากู้ยืมที่อยู่ในระดับสูงตามการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจออสเตรเลีย ในขณะที่อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 53 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม

-  ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า การแผ่วลงของภาคการจ้างงานอาจเป็นการสะท้อนถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหิน ซึ่งขยายตัวอย่างร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นปี 51 เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ส่งผลให้การจ้างงานในภาคดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขยายตัวของภาคการจ้างงานออสเตรเลีย เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง

ในขณะที่ในระยะต่อไปปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหนักที่สุดในรอบกว่า 50 ปี ในรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) ของประเทศออสเตรเลียอาจส่งผลให้ภาคการส่งออก (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของ GDP) ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญขอประเทศคือ แร่เหล็กและถ่านหิน ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตในรัฐดังกล่าวมากที่สุด โดยการชะลอลงของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าวจากปัญหาน้ำท่วมน่าจะกระทบให้การจ้างงานโดยรวมชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง