เนื้อหาวันที่ : 2011-01-12 12:02:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 821 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 12 ม.ค. 2554

1. ธปท.ห่วงสถานการณ์เงินเฟ้อ หลังเจอปัจจัยกดดันรอบทิศทั้งจากภายนอก-ภายใน
-  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "Economic Outlook 2011" ว่า สถานการณ์เรื่องเงินเฟ้อในปี 54 เป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะมีแรงกดดันจากทั้งภายในและปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ

สำหรับแรงกดดันจากภายใน ได้แก่ การปรับเพิ่มเงินเดือนค่าจ้างราชการ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 54 คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.2-3.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากอุปสงค์ที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับ ในปี 54 คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 8-17 บาทต่อวัน ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขี้น

อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งมาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการควบคุมราคาจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามไปสู่การบริโภคของประชาชน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 3.0 – 4.0 ต่อปี ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ระดับ 78-88 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล 

2.  หอการค้าไทยคาดส่งออกปี 54 ขยายตัวในกรอบร้อยละ 6.7 – 12.0 ต่อปี
-  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดว่าการส่งออกปี 54 จะขยายตัวได้ในกรอบระหว่างร้อยละ 6.7-12.0 ต่อปี โดยคาดว่าการขยายตัวที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี มีค่าความเป็นไปได้สูงสุด พร้อมทั้งประเมินว่ามูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ระหว่าง 206.9-217.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากปี 53 ที่คาดว่าการส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 27.3 ต่อปี

โดยจะได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่การส่งออกจะชะลอลงมากในตลาดหลักเดิม เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ประสบทั้งปัญหาเงินฝืดและการว่างงาน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 54 คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.2 – 14.2 ต่อปี หรือ มูลค่า 216.9 – 220.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคเอเชีย (สัดส่วนร้อยละ 60.9 ของการส่งออกทั้งหมด) ที่มีทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง  จะเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

3. ญี่ปุ่นประกาศเข้าซื้อพันธบัตรกองทุนให้ความช่วยเหลือของสหภาพยุโรป
-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ว่า ญี่ปุ่นมีแผนที่จะเข้าซื้อพันธบัตรของกองทุนให้ความช่วยเหลือของสหภาพยุโรป (European Financial Stability Facility) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ประเทศในสหภาพยุโรปที่เผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะมีการระดมทุนจำนวน 3 ถึง 5 พันล้านยูโรภายในเดือนม.ค. 54  โดยจะลงทุนอย่างต่ำร้อยละ 20 ของพันธบัตร

ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าประเทศที่มีเงินทุนสำรองอันดับที่ 1 คือ จีนและอันดับที่ 2 คือญี่ปุ่น จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการลงทุนในพันธบัตรของประเทศที่ประสบปัญหา

-  สศค. วิเคราะห์ว่า หากประเทศญี่ปุ่นและจีนเข้าซื้อพันธบัตรที่ออกโดยกองทุนของสหภาพยุโรปดังกล่าว จะเป็นการปรับสัดส่วนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศดังกล่าวให้ไปอยู่ในสินทรัพย์สกุลเงินยูโรเพิ่มขึ้น อันเป็นการลดความเสี่ยงจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มลดค่าลง อืกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของค่าเงินยูโรและเศรษฐกิจยุโรป ให้แก่นักลงทุนอีกด้วย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง