เนื้อหาวันที่ : 2011-01-11 17:41:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2606 views

ING คาดเศรษฐกิจโลกปี 54 โตแค่ 3.8%

ING ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2554 เติบโตเพียง 3.8% มองบรรยากาศการลงทุนผันผวน ท่ามกลางความขัดแย้งของทิศทางตลาด

ING ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2554 เติบโตเพียง 3.8% มองบรรยากาศการลงทุนผันผวน ท่ามกลางความขัดแย้งของทิศทางตลาด

ING Investment Management ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2554 จากความแตกต่างระหว่างศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะกว้างขึ้น ความผันผวนในตลาด ประกอบกับความไม่แน่นอนในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ING Investment Management กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจโลกในการการประชุมทิศทางและภาพรวมเศรษฐกิจประจำปี ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอน เมื่อพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

มาตรการทางการเงินหลายอย่างที่รัฐบาลและธนาคารกลางนำมาประกาศทดลองใช้ (Test Tube Policies) นั้นอาจก่อให้เกิดความผันผวนต่อตลาดการลงทุนอย่างรุนแรง INGIM ยังกล่าวด้วยว่า โดยภาพรวมมีเพียง 30-40% ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดที่ปรับตัวเข้ากับภาวะการลงทุนในปัจจุบัน และคาดการณ์ว่ามีโอกาสประมาณ 60% ที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความยุ่งเหยิงและวุ่นวายตลอดปี 2554

Valentijn van Nieuwenhuijzen, Head of Strategy, Strategy and Tactical Asset Allocation Group กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจในปีหน้าว่า “เราจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนที่ผันผวนในปี 2011 และความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะกว้างขึ้นและปรากฎอย่างเด่นชัด ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับผลที่อาจเกิดจากมาตรการทางการเงินที่รัฐบาลและธนาคารกลางนำมาทดลองบังคับใช้”

ING Investment Management คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเติบโตประมาณ 3.8% ในปี 2554 เปรียบเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ 4.8% ในปี 2553 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จะมีการขยายตัวที่ระดับ 6.5% ในปี 2554 (ปี 2553 : 8.1%) และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ระดับ 1.6% ในปี 2554 (ปี 2553 : 2.2%) ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่าง ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) เพิ่มมากขึ้น

การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า มีความเป็นไปได้ 25% ที่โลกจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงอีกครั้ง และความเป็นไปได้ 15% ที่จะเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอ้ตราการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจยังอยู่ภายใต้แรงกดดันในการปรับลดระดับหนี้สาธารณะและสัดส่วนช่องว่างทางการผลิตซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ

มุมมองภาวะตลาดตราสารหนี้
ING Investment Management เชื่อว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้และส่วนชดเชยความเสี่ยงยังคงต่ำ ปัจจัยเกื้อหนุนตลาดตราสารหนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ, มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและภาวะเงินฝืด Valentijn van Nieuwenhuijzen, Head of Strategy, Strategy and Tactical Asset Allocation Group ให้ความเห็นว่า “นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ยังคงมองหาตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในภาวะตลาดปัจจุบัน

และตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ซึ่งเป็นตราสารหนี้ในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้น ก็ได้รับความนิยมสูงจากนักลงทุน อย่างไรก็ตามสภาพคล่องในการลงทุนนับเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณาสำหรับการลงทุนในปีหน้า และอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้”

มุมมองภาวะตลาดทุน
ING Investment Management เชื่อว่าตลาดทุนในปี 2554 ยังน่าลงทุนด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงอัตราการเติบโตของกำไร, มูลค่าการลงทุนที่ยังคงต่ำ, สภาพคล่องที่ยังคงสูงและการเพิ่มพูนความมั่งคั่งของบริษัทและองค์กรเอกชน

ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังช่วยเน้นให้เห็นถึงธีมการลงทุน 3 ธีมคือ รายได้และการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable income and growth), การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขององค์กร (Increased corporate spending) และการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging markets) ในปีหน้า

ทั้งหมดที่กล่าวมาในเบื้องต้นนี้ได้ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของการปรับเพิ่มของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญทั่วโลก:
รายได้และการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable income and growth) :
เงินปันผลจะเป็นตัวสร้างรายได้ที่สำคัญ ขณะที่อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ต่ำ, งบดุลที่แข็งแกร่งและกำไรจากผลประกอบการที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขององค์กร (Increased corporate spending) : ระดับความเชื่อมั่นขององค์กรที่สูงขึ้น กระแสเงินสดและงบดุลที่แข็งแกร่ง จะผลักดันให้เกิดการซื้อคืนกิจการ การจ่ายเงินปันผล การควบรวมกิจการและการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจมากขึ้น

การลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging markets) : ยังคงมีกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีหนี้สาธารณะและเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง INGIM ยังคงเชื่อว่าระดับราคาหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังอยู่ในระดับปกติ

Patrick Moonen, Senior Equity Strategist, Strategy and Tactical Asset Allocation Group ให้ความเห็นว่า “ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจและเราคาดว่าผลตอบแทนในการลงทุนนั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของผลกำไร อย่างไรก็ตามนักลงทุนอาจเน้นลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนและมีการเติบโตสูง ขณะที่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขององค์กรเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด”

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี  2554
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2553 ทาง บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด คาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง เติบโตประมาณร้อยละ 3.0 ถึง 5.0 แม้ว่าจะชะลอตัวจากปี 2553  ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณร้อยละ 7.0 ถึง 8.0

อย่างไรก็ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2554 จะเป็นการเติบโตจากทุกภาคส่วน  จากการลงทุนภาคเอกชนและรัฐบาล  รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 มีภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน  โดยคาดว่าภาคการส่งออกน่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ประเทศไทยเติบโตน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน คือ ความเสี่ยงทางด้านการเมืองที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล  ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ  สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงอยู่ แม้รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะมีความพร้อมมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา

โดยปัญหาที่เหลืออยู่ ได้แก่ การว่างงานและราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสหรัฐฯ  ถึงแม้สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลัง และการผ่อนคลายทางการเงิน โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับต่ำสุดรวมถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลไกการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังทำงานได้ไม่เต็มที่   

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย และการลงทุนในตลาดตราสารหนี้
คุณจารุวัฒน์ ปรีดิ์เปรมกุล หัวหน้าฝ่ายจัดการลงทุน – ตราสารหนี้
  มองว่า จากแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงในปี 2554 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0-4.0 จาก 7.0-8.0 ในปี 2553 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับ 2.5-3.5 คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.5-1.0% ในปี 2554 เพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกลับเข้าสู่ระดับปกติ

ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันบัตรและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารปรับตัวสูงขึ้นตาม คาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนจะปรับตัวในทิศทางที่แบนราบลง โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นและกลางมีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากประมาณพันธบัตรที่ออกเสนอขายใหม่ในปี 2554 มีน้อยเมื่อเที่ยบกับความต้องลงทุนของนักลงทุนกลุ่มต่างๆ

กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้สำหรับปี 2554 ก็ยังคงเหมือนกับในปี 2553 คือเน้นการลงทุนในตราสารระยะสั้นและเงินฝากเพื่อลดผลกระทบและความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น และจะเพิ่มการลงทุนในตราสารระยะปานกลางจนถึงยาวเมื่ออัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ที่มา:  ING Investment Management และ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด

มุมมองภาวะตลาดทุน
คุณศิริพรรณ สุทธาโรจน์ หัวหน้าฝ่ายจัดการลงทุน – ตลาดทุน มองว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2554 คาดว่า ตลาดยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก โดยมีผลจากปัจจัยบวกทั้งในประเทศและนอกประเทศดังต่อไปนี้

ปัจจัยต่างประเทศ
ปัจจัยบวก
• การอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะ FED / ECB / BoE เพราะล้วนแต่อยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรอบที่ 2 มากขึ้น การเพิ่มงบประมาณขาดดุลฯ ของรัฐบาล ทำได้จำกัด
• ทิศทางค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า จากการเร่งใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
• ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันและทองคำ ยังเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน เชื่อว่าจะมีโอกาสทดสอบ US$90-100 แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกจะขยายตัวไม่มาก แต่ก็ได้ประเด็นบวกของค่าเงินดอลลาร์เป็นตัวช่วย

ปัจจัยลบ
• การโยกย้ายเงินทุนต่างชาติไปยังตลาดหุ้นที่ Laggard อย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป หากเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวส่งสัญญาณฟื้นตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น
• การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หลังจากครบกำหนด QE2  อาจกระทบต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กลับมาแข็งค่า

ปัจจัยในประเทศ
ปัจจัยบวก
• Satisfactory levelการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
• ผลการดำเนินงานของบริษัทที่ดีอย่างต่อเนื่อง
• ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ระดับสูง ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.สูงสุดในรอบ 30 เดือน รวมถึงภาคการลงทุนภายในประเทศที่ขยายตัว
• ผลจากมาตรการ QE จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง  ด้วยภาพการเมืองที่มีเสถียรภาพ การเติบโตเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังต้องการเพิ่มน้ำหนัก / หรือรักษาน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ปัจจัยลบ
• ความกังวลต่อมาตรการควบคุมเงินไหลเข้า  ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินในภูมิภาคปัจจัยการเมืองภายในประเทศ  ซึ่งจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า

แม้ว่า ณ ปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 แล้วจากต้นปี 2553 ในระยะสั้น คาดว่า ดัชนีฯ น่าจะมีความผันผวนจากแรงขายทำกำไรเป็นช่วงๆ เนื่องจากระดับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดหลังเกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551 แต่ในระยะยาวทาง บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) คาดว่า ตลาดหุ้นไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยบวกข้างต้น

ในระดับผู้ประกอบการบริษัทจดทะเบียน มีผลการดำเนินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า บริษัทจดทะเบียนน่าจะมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (EPS-Earning per Share) มากกว่าร้อยละ 15 ในปี 2554 ในเชิงของระดับราคา  อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 12 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับ P/E เฉลี่ยของภูมิภาคที่ 12.7 เท่า* และค่า P/E เฉลี่ยของ SET INDEX ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น ค่า P/E ของตลาดควรที่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในการลงทุนในระยะยาว ได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภาครัฐ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง  กลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ เช่น กลุ่มธนาคาร นอกจากนี้ผลจากมาตรการ QE น่าจะทำให้กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคาโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น   รวมถึงกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของตลาดทุนไทย และส่งผลให้ดัชนีฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปได้