เนื้อหาวันที่ : 2011-01-10 15:09:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2177 views

ความเป็นเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำ กทม.หยุดโต

SCB EIC ชี้อัตราความเป็นเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างหยุดนิ่ง แถมเมืองหลวงหยุดโต ขณะที่การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองย้ายออกนอกเขตกรุงเทพฯ แล้ว

SCB EIC ชี้อัตราความเป็นเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างหยุดนิ่ง แถมเมืองหลวงหยุดโต ขณะที่การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองย้ายออกนอกเขตกรุงเทพฯ แล้ว

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า อัตราความเป็นเมือง (urbanization rate หรือจำนวนคนเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลต่อจำนวนประชากรทั้งหมด) ของไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 31% ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเชีย (53%) และมาเลเซีย (71%)

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองของไทยยังค่อนข้างหยุดนิ่งอีกด้วย โดยอัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 0.8 percentage points (pp) ระหว่างปี 2545- 2552 เทียบกับการเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 และ 7 pp ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ

“สาเหตุที่ไทยมีอัตราความเป็นเมืองต่ำเนื่องจากมีคนจำนวนมหาศาลในกรุงเทพฯ แต่เมืองที่มีประชากรคนเมืองมากเป็นอันดับที่ 2 (สมุทรปราการ) มีประชากรคนเมืองเพียง 6% ของกรุงเทพฯ ในขณะที่เมืองอันดับสองของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีขนาดถึง 36% และ 49% ของเมืองอันดับที่ 1 ของประเทศดังกล่าว ตามลำดับ” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว

 “นอกจากนั้น จากข้อมูลล่าสุดดูเหมือนกรุงเทพฯ ได้หยุดโตลงแล้ว จำนวนประชากรคนเมืองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เติบโตช้าลงมากในทศวรรษที่ผ่านมา และการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองได้ย้ายไปสู่เมืองที่อยู่นอกกรุงเทพฯ เมืองใน 10 จังหวัดแรกที่มีผู้บริโภคในเมืองมากที่สุดนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังเติบโตต่อไป

ในขณะที่จำนวนคนเมืองในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นเพียง 5% ระหว่างปี 2543-2552 แต่จำนวนคนเมืองใน 10 จังหวัดแรกเพิ่มขึ้นถึง 18% ทั้งที่จำนวนคนเมืองทั้งสองแหล่งเติบโตด้วยอัตราเท่าๆ กันมาก่อนที่ประมาณ 18% ในทศวรรษก่อนหน้า” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (urbanization) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยส่งเสริมการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากคนเมืองในไทยมีรายได้มากกว่าคนนอกเมืองโดยเฉลี่ยถึง 2 เท่า และยังจับจ่ายมากกว่าคนนอกเมืองที่มีรายได้ระดับเดียวกันอีกด้วย

โดยคนเมืองที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าคนกลุ่มรายได้เดียวกันที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองถึง 2 เท่า นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มที่จะครอบครอง เครื่องปรับอากาศ เตาไมโครเวฟ และคอมพิวเตอร์ มากกว่าประมาณ 50% อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้บริโภคในเมือง (urban consumer class) ยังมีไม่มากนัก โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้นเรื่อยๆ

“เรานิยามให้ผู้บริโภคในเมืองคือผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และมีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ถึง 4 ล้านคน ส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี มีการศึกษาดี และประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง โดย 45% ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในระหว่างปี 2545-2552 ประมาณ 75% ของการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในเมืองเกิดขึ้นนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และแนวโน้มนี้น่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคต” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว

“อย่างไรก็ตามผู้บริโภคในเมืองอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วสารทิศ จากจำนวนผู้บริโภคในเมืองนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.7 ล้านคน มีเพียงประมาณ 7 แสนคนที่อยู่ใน 10 จังหวัดแรกที่มีผู้บริโภคในเมืองมากที่สุด และมีเพียง 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 20 จังหวัดแรก” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

พื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯ กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ดังเห็นได้จากสัดส่วนยอดขายตามจำนวนหน่วยสินค้านอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในกลุ่มสินค้าราคาสูงได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในระหว่างปี 2545-2552 สัดส่วนจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขายนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขี้นจาก 33% เป็น 42% นอกจากนั้น ยอดขายรถกระบะยังเพิ่มจาก 58% เป็น 62% อีกด้วย

ประเด็นเหล่านี้มีผลกระทบที่สำคัญต่อทั้งนโยบายและธุรกิจ ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพื่อที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้โดยการ “แก้ไข” กรุงเทพฯ และการสร้างเมืองให้มีมากขึ้น

เมืองที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ควรที่จะพัฒนาโดยมุ่งเรื่องจุดเด่นเฉพาะด้าน มากกว่าขนาด ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีความยากลำบากมากขึ้น การเติบโตของกรุงเทพฯ ที่ค่อนข้างหยุดนิ่ง เหมือนจะเป็นการเสนอกลยุทธ์ให้หันไปให้ความสำคัญกับพื้นที่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น แต่คงไม่ง่ายนัก เพราะในขณะที่ผู้บริโภคในเมืองจำนวนมากอาศัยอยู่ในเขตนอกกรุงเทพฯ แต่ก็อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วไปหมด

“ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาเมืองนอกเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีขนาดใหญ่มากเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายอุตสาหกรรม (industrial cluster) และอาจจะไม่จำเป็นต้องมีบริษัทจำนวนมากในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และรัฐบาลท้องถิ่น” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย