เนื้อหาวันที่ : 2011-01-07 10:05:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1311 views

อุตฯสิ่งทอโอดบาทแข็ง-ค่าแรงแพง แห่ย้านฐานซบเพื่อนบ้าน

สอท. เผยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ 15 ราย เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เหตุแบกรับต้นทุนจากค่าเงินบาทแข็ง ค่าแรงแพงไม่ไหว

สอท. เผยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ 15 ราย เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เหตุแบกรับต้นทุนจากค่าเงินบาทแข็ง ค่าแรงแพงไม่ไหว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยรายใหญ่จำนวน 15 ราย ซึ่งมีสัดส่วนครองตลาดกว่า 20% คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาทได้ทยอยย้ายฐานการผลิตที่เป็นส่วนของการขยายกำลังการผลิต ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชาและบังกลาเทศ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าไทยมากโดยเฉพาะบังกลาเทศค่าแรงต่ำกว่าไทยราว 3 เท่าตัว กัมพูชาและเวียดนามต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตเนื่องจากเผชิญปัจจัยลบในไทยรอบด้าน ทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในระบบนับแสนรายจากปัจจุบันมีอยู่กว่า 7 แสนราย ปัญหาต้นทุนการผลิตจากค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านลดลง

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าส่งออก 20% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 และมีการกำหนดราคาซื้อขายค่าเงินบาทระดับ 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เชื่อว่าหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างแน่นอนและคาดการณ์ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมฯปีนี้จะมีมูลค่าส่งออกลดลงถึง 10%

ทั้งนี้ผู้ประกอบการมองว่า การย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านจะได้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การนำเงินไปลงทุนต่างประเทศช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท ลดต้นทุนการผลิตด้านค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังทำให้สามารถรุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายหลังมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความพร้อมที่จะตั้งโรงงานในเพื่อนบ้านแล้ว รอเพียงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงการคลังยกเว้นการเก็บภาษีเงินกำไรที่นำเข้าจากบริษัทลูกในต่างประเทศให้เหลือ 0% จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 30% เนื่องจากมองว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนเพราะได้จ่ายภาษีนิติบุคคลในประเทศที่ไปลงทุนอยู่แล้ว

ในขณะนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ราว 6 ราย ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คาดว่าภายใน 2 ปี ผู้ผลิตรายใหญ่ 15 รายก็จะย้ายไปทั้งหมด