เนื้อหาวันที่ : 2010-12-28 15:25:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1043 views

ภาคอุตฯ ใจชื้นหลังดัชนีอุตฯ โตต่อเนื่อง 13 เดือน

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 2553 ขยายตัว 5.61% การผลิตรถยนต์-แอร์-ปูนซีเมนต์-เครื่องสุขภัณฑ์-การแปรรูปสัตว์น้ำ ยอดผลิตและจำหน่ายยังขยายตัวได้ดี

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 2553 ขยายตัว 5.61% การผลิตรถยนต์-แอร์-ปูนซีเมนต์-เครื่องสุขภัณฑ์-การแปรรูปสัตว์น้ำ ยอดผลิตและจำหน่ายยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ Hard disk drive ชะลอลงเล็กน้อย โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.63%

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน หลังจากเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก

โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต 63.63% อุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการขยายตัวของ MPI เดือน พ.ย.เมื่อเทียบกับเดีอนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิตรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ปูนซีเมนต์ เครื่องสุขภัณฑ์ การแปรรูปสัตว์น้ำ Hard disk drive

การผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 25.9% และ 25.0%ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวได้ดีจึงส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 58.4%และ48.7% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป อีกทั้งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น

การผลิตปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 7.2%และ10.3% เนื่องจากภาวะการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวในระยะสั้น คือ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการ ซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆหลังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

เช่นเดียวกันกับ การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 24.2%และ15.4% เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงขึ้น เป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

การแปรรูปสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 5.9% และ 10.0% โดยสินค้าสำคัญในกลุ่มคือกุ้งแช่แข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าต่างๆ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม บราซิล และเม็กซิโก ประสบปัญหาโรคระบาดและน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงอย่างมาก จึงส่งผลทำให้การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นดังกล่าว

ขณะที่ การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5%และ 2.1% ถือเป็นการปรับฐานทางเทคนิคปกติ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 121% เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่มีแผนขยายสายการผลิตใหม่ในปี 2554 จึงมีการสต๊อกสินค้าเพื่อใช้หมุนเวียนให้เพียงพอ ส่งผลทำให้ตัวเลขสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น

นางสุทธินีย์ สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนพฤศจิกายน 2553 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 190.36 เพิ่มขึ้น 5.61% จากระดับ 180.24 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 194.45 เพิ่มขึ้น 7.99% จากระดับ 180.50

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 193.49 เพิ่มขึ้น 11.65% จากระดับ 173.29 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 122.92 เพิ่มขึ้น 8.77% จากระดับ 113.02 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 139.61 เพิ่มขึ้น 1.22% จากระดับ 137.92 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.63%