เนื้อหาวันที่ : 2010-12-23 15:39:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1362 views

อุตฯ อาหารหงอยยอดส่งออกปี 53 หดคาดปีหน้าไม่กระเตื้อง

3 องค์กรเศรษฐกิจเผยตัวเลขส่งออกอาหารหดหลือแค่ 7.9 แสนล้านบาท คาดปีหน้าโตแค่ 2.5% เตรียมฝ่ามรสุมค่าเงินบาทแข็ง-ค่าจ้างแรงงานเพิ่ม

3 องค์กรเศรษฐกิจเผยยอดส่งออกอาหารปี 53 ลดเหลือ 7.9 แสนล้านบาท โตแค่ ร้อยละ 4.7 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ร้อยละ 10.0 แต่ไทยยังรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลกไว้ได้ ชี้ปี 54 หนักกว่าเดิม คาดส่งออกขยายตัวแค่ร้อยละ 2.5 มูลค่า 8.1 แสนล้านบาท

ครึ่งปีแรกหดตัว เหตุพิษค่าเงินบาทแข็ง ทั้งขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นตามค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มแบบก้าวกระโดด ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารกว่า 40,000 ตำแหน่ง เพราะมีแนวโน้มเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปอุตสาหกรรมอื่นที่มีค่าจ้างสูงกว่า ส่วนครึ่งปีหลังส่งออกอาจขยายตัวเป็นบวกได้ หวังเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้น ค่าเงินบาทอาจอ่อนตัวลง

22 ธันวาคม 2553/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Centerเพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย 10 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิต และส่งออก ในอัตราร้อยละ 4.7 และ 6.9 ตามลำดับ โดยภาคการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่ง ปีแรก และหดตัวลงในครึ่งปีหลังเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ

เช่น มันสำปะหลัง ผักผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวการณ์แข็งค่าของเงินบาทในช่วงปลายปี โดยการส่งออกอาหารตลอดปี 2553 คาดว่าจะมีมูลค่าเพียง 790,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ต่ำกว่ามูลค่าส่งออก 830,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ10.0 ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

โดยการค้าอาหารโลกในปี 2553 คาดว่าจะมีมูลค่า 992,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ซึ่งไทยยังคงรักษาการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลกไว้ได้เช่นเดียวกับปีก่อน แต่ส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกของไทยปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.45 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.58 ในปีนี้

ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราขยายตัวมีแนวโน้มต่ำกว่าปี 2553 โดยการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 810,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายสำคัญได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวลงเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะการแข็งค่าของเงินบาท การขาดแคลนวัตถุดิบ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมัน แต่จะขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้

สินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น (ในเชิงปริมาณ) ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ปลาแช่แข็ง ปลากระป๋อง ผลไม้สดและแปรรูป น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เครื่องปรุงรส และอาหารสัตว์ สินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะลดลง ได้แก่ กุ้ง ผักสดและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยสินค้าสองประเภทหลังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อน ได้แก่ ข้าว ไก่ และปลาหมึก คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2553

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมัน และค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ปัจจุบันรอบวัฏจักรการเกิดภัยธรรมชาติมีความถี่ขึ้นมากและส่งผลกระทบรุนแรง โดยภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปี 2554 ทำให้พืชผลการเกษตรสำคัญของไทยเกิดภาวะอุปทานตึงตัว (ปริมาณผลผลิตขยายตัวไม่ทันกับความต้องการ) ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พืชผักผลไม้

 “อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบขยายตัวของสหรัฐฯ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบโดยใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) ที่ออกมาระรอกที่ 2 รวมทั้งแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งของทางการสหรัฐฯ

ขณะที่ประเทศในเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยประเทศในเอเชียและสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้มีเงินทุนไหลสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งเงินบาทของไทยจึงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีหน้า แต่จะแข็งค่ามากถึงระดับใดเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก

นอกจากนี้ยังจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างแรงงานปีละกว่า 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.6 ของโครงสร้างการผลิตทั้งหมด แม้จะมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นเนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือเป็นหลัก ทำให้ค่าจ้างต่อหัวไม่สูงนัก

อย่างไรก็ตาม การที่คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารมีมากกว่า 870,000 คน สูงที่สุดอันดับ 3 รองจากภาคโรงแรมและภัตตาคาร และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด 8-17 บาท จากที่เคยปรับขึ้น 3-5 บาทในปีก่อน แม้จะส่งผลดีทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน” นายเพ็ชร กล่าว

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึง ผลกระทบทางตรงจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่ออุตสาหกรรมอาหารว่า ผู้ประกอบการจะมีภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในปี 2554 จะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบทางอ้อมมายังผู้ประกอบการเอง

เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าจะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง กรณีที่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง รวมทั้งสินค้าบางอย่างเป็นสินค้าควบคุม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจอยู่ในภาวะจำยอมในการตรึงราคาสินค้าไปก่อน ดังนั้น มาตรการที่ธุรกิจจะประคองตัวอยู่ได้ในภาวะเช่นนี้ มีทางเลือกไม่กี่ทาง ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต

ซึ่งแนวทางนี้ทำได้ค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาวัตถุดิบทางการเกษตร ราคาพลังงาน รวมทั้งค่าขนส่ง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือต้องลดกำไรของผู้ประกอบการลง ซึ่งในส่วนนี้สร้างความลำบากให้กับผู้ประกอบการไม่น้อยเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นภาคธุรกิจที่มีกำไรต่อหน่วยไม่มากเพียงร้อยละ 12.4 ของโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมเท่านั้น

ส่วนผลกระทบทางอ้อมนั้น อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานมากขึ้น ช่องว่างระหว่างอัตราค่าจ้างในแต่ละจังหวัดที่มีแนวโน้มห่างขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างในแต่ละปี มีแนวโน้มจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ หรือจังหวัดอื่นที่มีค่าจ้างสูงกว่า

โดยเฉพาะแนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแถบจังหวัดท่องเที่ยวที่มีค่าจ้างสูงกว่า เช่น ภูเก็ต ชลบุรี พังงา กระบี่ หรือแม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงยิ่งขึ้น ซ้ำเติมปัญหาปัจจุบันที่อุตสาหกรรมอาหารขาดแคลนแรงงานอยู่แล้วมากกว่า 40,000 ตำแหน่ง

“อย่างไรก็ตามในการคาดการณ์มูลค่าส่งออกอาหารของไทยนั้น นอกจากจะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อภาคการผลิตและภาคการตลาดแล้ว การแข็งค่าของเงินบาทนับเป็นตัวแปรสำคัญที่สถาบันอาหารต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยสถาบันอาหารได้คาดการณ์มูลค่าส่งออกภายใต้สถานการณ์เงินบาทในกรณีต่างๆ ไว้ดังนี้

กรณีที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกอาหารของไทยในปี 2554 จะมีมูลค่า 810,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2553 ทั้งนี้จากการประมาณการพบว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาท จะส่งผลทำให้การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่าลดลงประมาณ 13,700 ล้านบาท หรืออาจกล่าวได้ว่าทุกๆ 1% ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น จะทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 3,700 ล้านบาท หรือลดลง 0.48%

กรณีที่เงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 27.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้มูลค่าส่งออกอาหารปี 2554 เริ่มมีมูลค่าน้อยกว่าปี 2553 และหากสถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ กล่าวคือเงินบาทแข็งค่าไปถึง 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่า จะส่งผลให้มูลค่าส่งออกอาหารไทยลดลง 55,000 ล้านบาท หรือลดลง 6.8% กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น น้ำมันปาล์ม แป้งและสตาร์ช พืชผัก ผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงรส

เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลัก กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อย เช่น มันสำปะหลัง ผลไม้สด กุ้ง น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เพราะเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่อุปทานมีจำกัด ส่วนทูน่าและปลากระป๋อง เป็นสินค้าที่มีการนำเข้าปัจจัยวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารกลุ่มดังกล่าวน้อยกว่ากลุ่มแรก” นายอมร กล่าว