เนื้อหาวันที่ : 2010-12-20 09:23:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1113 views

ส่งออกคุยโวส่งออกไทยปีนี้โตมากกว่า 25%

อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ระบุ การส่งออกของไทยตลอดปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 25 ตามเป้า พาณิชย์ตั้งเป้าปีหน้าโตอีก 10%


อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ระบุ การส่งออกของไทยตลอดปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 25 ตามเป้า พาณิชย์ตั้งเป้าปีหน้าโตอีก 10%


อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ระบุ การส่งออกของไทยตลอดปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 25 ตามเป้าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก
เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.- ธ.ค.53) จะสามารถขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 20-23 คิดเป็นมูลค่าส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 14,300-15,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตลอดปีนี้การส่งออกสามารถเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกหลักสำคัญทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผู้ส่งออกได้แจ้งว่ามีคำสั่งซื้อสำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีสูงและยังอยู่ระหว่างการส่งมอบสินค้าเพื่อใช้ในเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่


อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวด้วยว่า สำหรับการส่งออกในปี 2554 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้เบื้องต้นว่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 207,900-209,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยที่ 76-77 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าภาวะเศรษฐกิจการค้าของโลกและตลาดส่งออกสำคัญในปี 2554 ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้


โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจไม่มากเท่ากับปีนี้ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายและแผนงานในการเร่งรัดผลักดันการส่งออกให้สอดรับกับภาวะการณ์ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายให้การส่งออกเติบโตได้ร้อยละ 10 มีการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในการผลักดันการส่งออก


อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 2554 การส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ปัญหาเงินบาทแข็งค่าและเริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในขณะนี้และอาจต่อเนื่องไปถึงปีหน้า, ต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นในปีหน้าจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ, ปัจจัยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นด้วยในปีหน้า


ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย