เนื้อหาวันที่ : 2010-12-16 14:39:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3556 views

วิศวกรรมย้อนรอย หนุนอุตฯ ปาล์มน้ำมัน

กระทรวงวิทย์ฯ เผยผลสำเร็จ วิศวกรรมย้อนรอย พัฒนาชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง ผู้ประกอบการขานรับพร้อมใช้จริงทดแทนนำเข้า


กระทรวงวิทย์ฯ เผยผลสำเร็จ วิศวกรรมย้อนรอย พัฒนาชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง ผู้ประกอบการขานรับพร้อมใช้จริงทดแทนนำเข้า


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์จากวิศวกรรมย้อนรอย พัฒนาชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง (Machines for high performance crude-palm-oil extraction process) ภาคเอกชน และผู้ประกอบการขานรับพร้อมใช้จริงแทนการสั่งซื้อเครื่องจักรราคาสูงจากต่างประเทศ เชื่อมั่นประสิทธิภาพเครื่องจักรคนไทย ลดต้นทุน ไม่สร้างมลภาวะ


นางนิตยา พัฒนรัชต์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันจัดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศ ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชตระกูลปาล์มที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอัฟริกา


เป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าพืชน้ำมันทุกชนิด (ประมาณ 640-800 กิโลกรัมน้ำมันต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่) และเป็นพืชน้ำมันที่มีการผลิตทั่วโลกเป็นอันดับสอง คือ 25% โดยประมาณ หรือคิดเป็นปริมาณการผลิต 23.355 ล้านตัน ในปี 2544 รองจากน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 28% โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก (52%) และอินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 (32%)


ส่วนประเทศไทยถึงแม้จะมีอันดับการผลิตอยู่อันดับที่ 4 ของโลก แต่มีสัดส่วนการผลิตเพียง 2% เท่านั้น คือ มีพื้นที่ปลูกถึงปี 2547 ประมาณ 2.19 ล้านไร่ และมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 0.68 ล้านตัน ซึ่งผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 775,000 ตัน


โดยใช้ในการอุปโภคทั้งหมด โดยรัฐบาลได้มียุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันปี 2547–2572 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันปาล์มให้เคียงคู่ผู้นำระดับโลก อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ประกอบกับมีนโยบายที่กำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศ พร้อมตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ในปี 2572


ด้วยเหตุนี้เมื่อ ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ นำเสนอโครงการพัฒนาชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง ที่ศึกษา ทดลองเป็นอย่างดี เพื่อเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงตอบรับและให้การสนับสนุน


โดยได้รับความร่วมมือจาก 2 ภาคส่วน คือ จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนงบประมาณ ร้อยละ 40 และความสนับสนุนจากภาคเอกชน จาก บริษัท ไทย ไดนามิค มาสเตอร์ จำกัด และ บริษัท ปาล์ม โมริช จำกัดและ บริษัทไทย เอเย่นซีเอ็นยีเนียริ่ง ร้อยละ 60 ด้วยงบประมาณรวม 20 ล้านบาท ซึ่งในกระบวนการสนับสนุนการพัฒนาเครื่องจักรดังกล่าว


กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งหวังว่าจะสามารถเกิดประโยชน์กับการใช้งานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศ และจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากลได้


รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นของการมุ่งคิดค้นพัฒนาเครื่องจักรในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันด้วยเทคโนโลยีย้อนรอย เนื่องจาก ได้มีการศึกษากระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่พบว่า ยังมีจุดอ่อนอยู่ในหลายๆส่วน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการผลิต และส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูง เพราะต้องสั่งซื้อ เครื่องจักรจากต่างประเทศ,


ประสิทธิภาพของเครื่องจักรในการสกัดน้ำมัน ตลอดจนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ จึงได้นำเสนอ โครงการพัฒนาชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีย้อนรอย โดยมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดจุดอ่อน อันเป็นอุปสรรคในกระบวนการผลิต


สำหรับประสิทธิภาพที่โดดเด่นของ ชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง ในครั้งนี้ ได้เพิ่มกรรมวิธีในกระบวนการผลิต ที่สามารถลดปริมาณน้ำเสียได้ เพราะไม่ต้องใช้ไอน้ำรมทะลายในขั้นตอนการอบทะลายปาล์มสดที่ยังมีผลปาล์มอยู่ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตอีกด้วย เนื่องจากไม่มีน้ำมันปนไปกับทลาย


โดยเครื่องจักรที่ได้รับการสนับสนุนในกระบวนการจะประกอบด้วย เครื่องย่อยทะลาย เครื่องแยกผลปาล์ม และเครื่องให้ความร้อน ซึ่งเป็นชุดเครื่องจักรสำหรับเตรียมผลปาล์ม(เพื่อใช้กับเครื่องสกรูอัด) ด้วยกระบวนการหีบเย็น ประกอบด้วยเครื่องย่อยทะลายปาล์มกำลังการผลิต 15 ตัน(ทะลายสด)/ชั่วโมง


เครื่องแยกผลปาล์มจากทะลายกำลังการผลิต 15 ตัน/ชั่วโมง และอุโมงค์ให้ความร้อน(ตู้อบ) กำลังการผลิต 9.5 ตัน/ชั่วโมง มีระบบลำเลียงที่เชื่อมต่อเครื่องจักรแต่ละตัวโดยสายพานลำเลียง ทำให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และทำความสะอาดผลปาล์มด้วยเครื่องแยกใยออกจากผลปาล์ม นับว่าเป็นเครื่องจักรที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่สร้างผลผลิตได้อย่างน่าพึงพอใจอีกด้วย


สิ่งสำคัญที่เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จของโครงการฯ คือ กระแสการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการ ซึ่งหลังจากที่ได้มีการนำไปถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ และภาคการเกษตร เครื่องจักรต้นแบบตามหลักวิศวกรรมย้อยรอย มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เครื่องจักรดั้งเดิมที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ในทางตรงกันข้าม ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย


เหนืออื่นใด คือ ความสามารถในการผลิต และพัฒนาเครื่องจักรกลที่เกิดจากฝีมือคนไทย ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างดี ด้วยต้นทุนการผลิตเพียง 18 – 21 ล้านบาท (จากเดิมมีต้นทุนมากถึง 30-40 ล้านบาท) ทั้งยังสามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ย 20 – 25 ล้านบาท และได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมันหลายแห่งทั่วประเทศ เพราะเชื่อมั่นว่า เป็นเครื่องจักรที่สร้างประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี


คุณสมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธาน บริษัท ไทยเอเย่นซีเอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนไทยที่ร่วมโครงการ กล่าวเพิ่มเติม ว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับภาพอากาศร้อนชื้น ดังนั้นปาล์มน้ำมันจึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศไทยบริเวณพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุด คือจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล และตรัง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ปลูกปาล์มน้ำมันเพียงที่ภาคใต้ เท่านั้น


แต่ยังมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไปยังภาคอีสานและทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลางเช่นจังหวัดกาญจนบุรี ,ปทุมธานี,อยุธยา และภาคอีสานตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน มีการปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับอีกหลายจังหวัด เช่นจังหวัดหนองคาย ,อุบล, ศรีษะเกศ,มุกดาหาร,อำนาจเจริญ,นครพนม และจังหวัดสกลนคร เป็นต้น ทำให้มีพื้นที่ปลูกปาล์มทางภาคอีสานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านไร่


ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนและเกิดวัตถุพลอยได้มากมาย และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก โดยสามารถแปรรูปได้หลากหลายชนิด ทางบริษัทฯเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาสร้างเครื่องหีบน้ำมันปาล์มขนาด 15 ตันทะลายปาล์มต่อชั่วโมงขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกรสวนปาล์มได้


การสร้างเครื่องจักร ขึ้นใช้เองภายในประเทศนำมาใช้ในการหีบปาล์มน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มศักยภาพ และขยายขีดความสามารถของการผลิตน้ำมันปาล์มให้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทยในการสร้างเครื่องจักรขึ้นใช้เอง เพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศ เพราะในปัจจุบันส่วนใหญ่เครื่องหีบปาล์มน้ำมันและอุปกรณ์ต่างๆในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก


วัตถุประสงค์
          (1) เพื่อทำการออกแบบวิจัยและพัฒนาสร้างเครื่องหีบปาล์มน้ำมัน ที่มีขนาดกำลังผลิตสูงถึง 15 ตันทะลายปาล์มต่อชั่วโมง และปรับปรุงประสิทธิภาพการหีบน้ำมันให้สูงขึ้นด้วยการติดตั้งระบบไฮโดรลิคส์ ซึ่งสามารถจะทำงานควบคุมลูกรีดเป็นอัตโนมัติได้
          (2) เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างเครื่องจักร ขึ้นใช้เองทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ
          (3) ลดปริมาณการสูญเสียของน้ำมันปาล์มดิบ(Oil Loss)และรักษาคุณภาพเพิ่มผลผลิตมากขึ้น
          (4) ลดการสึกหรอของเครื่องจักรช่วยยืดอายุการใช้งานของScrew Worm ได้นานขึ้น