เนื้อหาวันที่ : 2007-03-02 10:50:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2468 views

การรถไฟ นำเข้ารถไฟเจอาร์เวสต์ เก่าที่ใช้แล้วจากญี่ปุ่น

คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติรถไฟที่บริษัท เจอาร์ เวสต์ ประเทศญี่ปุ่น ให้ฟรี 32 ขบวน คาดใช้งบประมาณกว่า 128 ล้านบาท ดัดแปลงตกแต่งก่อนนำมาวิ่งให้บริการประชาชน

สำนักข่าวไทยรายงายข่าว คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติรถไฟที่บริษัท เจอาร์ เวสต์ ประเทศญี่ปุ่น ให้ฟรี 32 ขบวน  โดย รฟท.จะใช้งบประมาณกว่า 128 ล้านบาท ดัดแปลงตกแต่งก่อนนำมาวิ่งให้บริการประชาชน

.

นายถวิล  สามนคร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เปิดเผยว่า  ในการประชุมคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้อนุมัติการนำเข้ารถไฟใช้แล้วจากบริษัท เจอาร์ เวสต์ ประเทศญี่ปุ่นอีก 32  ขบวน  โดยบริษัทฯ  ดังกล่าวได้ให้เปล่า โดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด ซึ่ง รฟท.จะนำมาดัดแปลงและตกแต่งให้มีสภาพใหม่  เพื่อนำมาให้บริการประชาชน  โดยใช้งบประมาณตกแต่งขบวนละ 3-4 ล้านบาท รวม  128  ล้านบาท  ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ รฟท.ไปเจรจารายละเอียดกับบริษัทฯ เกี่ยวกับการขนย้ายรถไฟจากญี่ปุ่นมาที่ไทย คาดว่าบริษัทฯ จะทยอยจัดส่งรถไฟให้ รฟท.ลอตแรกในเดือนมิถุนายนนี้จำนวน 8 ขบวน และครบทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น รฟท.จะต้องลงทุนเปลี่ยนเพลาใหม่ และปรับเปลี่ยนบันไดขึ้นลงให้ต่ำลง เพราะรถไฟของญี่ปุ่นใช้บันไดสูงวิ่งในความเร็วประมาณ 70-80  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ในขณะที่ระบบรางของรถไฟญี่ปุ่นและของไทยไม่เหมือนกันทำให้ต้องวิ่งช้า  จากปกติที่รถไฟญี่ปุ่นวิ่งได้ความเร็วมากถึง 100-120  กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ  ส่วนภายในขบวนรถตกแต่งเป็นรถนอนห้องละ 4 เตียง

.

ทั้งนี้  หลังจากที่คณะกรรมการ รฟท.อนุมัติแล้ว  รฟท.จะทำหนังสือสอบถามกับบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด  หรือ  บทด.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกันว่าจะขนขบวนรถไฟทั้ง 32 ขบวนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะต้องเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการภายใน 2 เดือนข้างหน้า แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าจะต้องหาแคร่สำรองมาเปลี่ยน  เนื่องจากรถไฟที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นไม่สามารถนำมาวางลงรางได้ทันที  ส่วนค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทั้งหมด รฟท.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด  โดยหลังจากที่นำเข้ารถไฟจากญี่ปุ่นจะต้องตกแต่งขบวนรถใหม่ทั้งหมดให้เป็นรถนอนและใช้งานได้ประมาณ  10-15 ปี  โดยจะนำมาให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวอร์ธ  (เส้นทางเดินรถไฟระหว่างประเทศจากปัจจุบันให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซา)  กรุงเทพฯ-สุไหโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  และกรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช  โดยการลงทุนปรับเปลี่ยนขบวนรถดังกล่าวนั้น คาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 4   ปีข้างหน้า.