เนื้อหาวันที่ : 2010-12-16 13:33:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 653 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 16 ธ.ค. 2553

1. ไทยคาดส่งออกกุ้งปี 53 แสนล้านบาท

-  นายกสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยว่าปี 53 ไทยผลิตกุ้งได้ 6.4 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 14คาดว่าปริมาณส่งออกกุ้งทั้งปี 53 จะอยู่ที่ 4 แสนตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดสหรัฐ ยุโรป และญีปุ่น แม้ความต้องการจะลดลงแต่ปริมาณนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพราะกุ้งไทยมีคุณภาพดี คาดว่าปี 54 ปริมาณส่งออกกุ้งจะเท่ากับปี 53 ที่ 4 แสนตัน


-  สศค. วิเคราะห์ว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งแช่เย็นและกุ้งแช่แข็งอันดับหนึ่งของโลกแม้จะประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและเสียเปรียบประเทศคู่แข่งจากการเก็บภาษีเอดีของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาการส่งออกกุ้งของไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4 - 5 ต่อปี โดยในปี 52 มีปริมาณส่งออกทั้งสิ้น 220,453.7 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.9 ของปริมาณส่งออกทั้งโลกที่ปริมาณ 1.6 ล้านตัน


และใน 9 เดือนแรกปี 53 ส่งออกแล้วจำนวน 3.55 แสนตัน มูลค่า 8.3 หมื่นล้านบาท ตลาดส่งออกสำคัญยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา (45%) ญี่ปุ่น (20%) และยุโรป (15%) ซึ่งในปี 53 ผลผลิตกุ้งทั่วโลกค่อนข้างขาดแคลนเนื่องจากผู้ผลิตกุ้งสำคัญ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ขณะที่บราซิลยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะโรคระบาด ประเทศผู้นำเข้าจึงหันมานำเข้ากุ้งจากไทยเพิ่มขึ้น


2. ลงทุน บีโอไอ 11 เดือน มูลค่า 3.77 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 6 ต่อปี

-  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  รายงานว่า  ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 377,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.18 ต่อปี  และมีจำนวนโครงการทั้งหมด 1,409 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ  42.03 ต่อปี  โดยประเภทกิจการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ กิจการประเภทบริการและสาธารณูปโภคคิดเป็น 389 โครงการ


-  สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าในช่วงปลายปี 52 ถึงต้นปี 53  การลงทุนของไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  แต่การลงทุนไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า  ซึ่งส่งผลให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกในปี 53 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 25.0 ต่อปี 


นอกจากนี้  การลงทุนในกิจการประเภทบริการและสาธารณูปโภค  จะช่วยส่งผลดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ก่อให้เกิดการสร้างงาน  เพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิตในระยะยาว  ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 53 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 16.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 16.3-16.8 ต่อปี)


3. ราคาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบจะลดลงต่อเนื่องอีก 2 ปี

-  สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในนครดูไบในอีก 2 ปีข้างหน้าจะปรับตัวลดลงอีกที่ระดับร้อยละ 15 - 20  เนื่องจากคาดว่าภายในปี 2555 จะมีบ้านที่ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกจำนวน 48,000 หลัง หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน


ทั้งนี้ หลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกและเหตุการณ์พักชำระหนี้ของบริษัท Dubai World ได้ส่งผลต่ออุปสงค์ในอสังหาริมทรัพย์ในนครดูไบปรับตัวลดลงและราคาอสังหาริมทัพย์ในปัจจุบันได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 60 นับจากเหตุการณ์ดังกล่าว


-  สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบที่มีแนวโน้มลดลงนั้นจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาคการก่อสร้างขนาดใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในนครดูไบได้มีการปรับตัวสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 79 ตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงกลางปี 2551


สืบเนื่องจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดวิกฤตการเงินและเหตุการพักชำระหนี้ของบริษัท Dubai World ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกได้เพิ่มความระมัดระวังการให้สินเชื่อ ขณะที่โครงการอสังหาริมทรัพย์อีกหลายโครงการยังดำเนินการก่อสร้างซึ่งทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทยนั้นมีไม่มากนัก เนื่องจาก 1) การลงทุนของไทยในดูไบมีไม่มาก 2)สถาบันการเงินส่วนใหญ่ของไทยลงทุนในตะวันออกลางเพียงเล็กน้อย และ 3) มูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คิดเป็นร้อยละ 1.6


ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง