เนื้อหาวันที่ : 2010-12-15 17:21:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2004 views

iTAP เปิดโลกทัศน์พัฒนางานไม้ไทย

เอส.บี.พี.ทิมเบอร์กรุ๊ปชู iTAP เปิดโลกทัศน์ นำเทคโนโลยีเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ สู่นวัตกรรมโครงสร้างไม้ดัดโค้ง

นายคมวิทย์ บุญธำรงกิจ กรรมการผู้จัดการ บจก. SBP Timber Group

เอส.บี.พี.ทิมเบอร์กรุ๊ป พลิกโฉมวงการไม้ไทย จากเทรดดิ้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้สู่ “นวัตกรรมโครงสร้างไม้ดัดโค้ง”และเป็นตัวแทนจำหน่ายไม้“Accoya”ที่พัฒนาจากเทคโนโลยีขั้นสูงส่งผลให้ไม้จริงมีคุณสมบัติพิเศษ มีความทนทานนานกว่า 50 ปี บิดตัวน้อยที่สุดในโลก ชู iTAP ช่วยเปิดโลกทัศน์กระตุ้นการตื่นตัวด้านเทคโนโลยีให้ก้าวทันต่างชาติ ระบุ วงการไม้ของไทยหากไม่เร่งพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ อาจถึงทางตันได้ !!

นายคมวิทย์ บุญธำรงกิจ กรรมการผู้จัดการ บจก. SBP Timber Group ทำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ไม้กันปลวกจากหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมากว่า 30 ปี หลังจบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และMBAจากสหรัฐฯ เมื่อปี 2539 ได้เข้ามาดูแลกิจการต่อจากคุณพ่อ

ขณะนั้นยังเป็นห้องแถวเล็กๆ มีพนักงานเพียง 5 คน ทำธุรกิจรับซื้อไม้จากชายแดนไทย-มาเลเซียมาขายต่อให้กับร้านค้าไม้แปรรูปทั่วไปในกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ บจก.เอสบีพี มาร์เก็ตติ้ง เพราะครอบครัวเป็นคนในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จึงรู้แหล่งรับซื้อตามแนวชายแดนเป็นอย่างดี

ต่อมาเพื่อต้องการให้ลูกค้าเห็นภาพกลุ่มของบริษัทที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บจก. SBP Timber Group มาจนถึงปัจจุบัน และขยายบริษัทเพิ่มภายใต้ชื่อ บจก.ไพร์ช ออฟ วู้ด อินดัสทรีส์ เป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์และจำหน่ายไม้พื้น ประตู คิ้ว บัว วงกบ หน้าต่าง บันได และ งานวิศวกรรมไม้ประดับโครงสร้าง ปัจจุบัน มีพนักงานรวมประมาณ 380 คน

นายคมวิทย์ ยอมรับว่า “ เรื่องของเทคโนโลยีนั้น วงการไม้บ้านเราถือว่าเป็นธุรกิจที่ล้าหลังมากที่สุด สิ่งที่พ่อค้าไม้ส่วนใหญ่สนใจ คือ ต้องรู้จักไม้ทั่วโลก ดูปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นไม้ชนิดไหน มาจากแหล่งใด ราคาเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้โดนหลอก แต่ถามว่าทำไมไม้บิดงอ อบไม้เท่าไหร่จึงเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละสถานที่ อันนี้ก็เริ่มมีปัญหาแล้ว

ส่วนใหญ่บ้านเรามีความรู้เรื่องไม้น้อยมาก แม้บางคนคลุกคลีมานานกว่า 30-40 ปี คิดว่ารู้เรื่องไม้มาก แต่หากถามว่าทำไมไม้บิด และการอบไม้ต้องอบเท่าไหร่ จะตอบไม่ได้ หรือทักษะที่รู้กันอาจไม่ถูกต้อง เพราะในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วจะไม่รู้เลยตอบไม่ได้ จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี

ขณะที่ต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้กันอย่างกว้างขวาง ทำให้การใช้ไม้ในต่างประเทศยังคงเป็นที่นิยมกันมากต่างจากไทย แม้ทุกคนจะรักไม้อยากใช้ไม้แต่ใช้แล้วมีปัญหาบิดงอ จึงไม่อยากใช้หรือเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทน จึงเกิดมุมมองที่แตกต่างไปจากพ่อค้าไม้อื่นๆ เป็นจุดเปลี่ยนและหันมาสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ”

จากจุดเริ่มต้นซื้อมาขายไป มีทักษะเฉพาะเรื่องชนิดของไม้และราคาเหมือนพ่อค้าไม้ทั่วไป แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าคุณสมบัติของเนื้อไม้แต่ละชนิดและปัญหาการหดตัว หรือการบิดงอของเนื้อไม้เกิดจากอะไร โดยเฉพาะไม้จากป่าปลูกมีข้อเสีย คือ ไม้ไม่ทน จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณภาพให้ไม้มีความทนทานมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการสัมผัสและเริ่มเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยี

นายคมวิทย์ กล่าวว่า “โชคดีได้รู้จักกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP)สวทช. ผ่านการแนะนำของ รศ.ดร.ทรงกลด จารุสมบัติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2542 จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่ iTAP จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

อาทิ กิจกรรมการเดินทางไปเสาะหาดูงานเทคโนโลยีในต่างประเทศ และการเข้าร่วมในโครงการต่างๆ ยอมรับว่า การที่ได้รู้จัก iTAP ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ และเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ให้กับบริษัทฯ ได้รู้ว่าทำไมไม้ของต่างประเทศถึงไม่บิดและทนกว่า นอกจากนี้ยังทำให้รู้ว่าหากเรายังอยู่ในวงการไม้แบบเดิมไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาสร้างมูลค่า จะทำให้วงการไม้บ้านเราอาจถึงทางตันได้ !!

จากนิสัยรักการอ่าน ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ หลากหลาย จึงกลับมามองจุดแข็งและเริ่มกวากำหนดเป้าหมายของบริษัทที่จะมุ่งไป แทนการทำธุรกิจแบบเดิมๆ รวมถึงการได้ออกไปเปิดสาขาในต่างประเทศทำให้มองเห็นโอกาสทำตลาดจากความร่วมมือทางการค้าต่างๆ อาทิ การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ที่บริษัทฯได้นำเข้าไม้อัดมาจำหน่าย , การเปิดสาขาในจีนตั้งแต่ปี 2543 (ค.ศ.2001) เพื่อนำไม้จากจีนไปขายอินโดนีเซียและนำไม้จากอินโดนีเซียไปขายในจีนและไทย”

จากการดูงาน Wood Technology Research Center ร่วมกับ iTAP ทำให้บริษัทฯได้กำหนด Core values ดังนี้ 1.Wood Technology (เทคโนโลยีไม้) 2.Wood Engineering (วิศวกรรมไม้) และ3.Wood Architecture (สถาปัตยกรรมไม้) โดยมุ่งนำความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองโจทย์ลูกค้า เพื่อการใช้ไม้อย่างถูกต้อง และสมดุลกับสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ จึงเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน อาทิ การไปดูงานต่างประเทศ ณ ประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ จีน มาเลเซีย , การเข้ารับคำปรึกษาในโครงการพัฒนาสายการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง(MDF),

โครงการติดอาวุธผู้บริหาร : อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย,การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประตู หน้าต่างไม้ สำหรับตลาดยุโรป และการเตรียมการผลิต Glu-lam Curved Beam , โครงการจากแนวคิด...สู่แนวค้าฯ ล่าสุด การเข้าร่วมโครงการทำเตาผึ่งไม้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มคุณภาพไม้และลดการใช้พลังงาน(โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์)ตามลำดับ

จากเทรดดิ้ง มาผลิตไม้อัด และผลิตโครงประตู หน้าต่าง ฯลฯ ต่อมายกระดับการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์โครงสร้างไม้ดัดโค้งขนาดใหญ่ที่ไม่แพ้งานโครงสร้างไม้ดัดโค้งในต่างประเทศ เป็นการเปลี่ยนรูปทรงไม้ที่มีอยู่ในประเทศ สามารถดัดไม้ให้โค้งเป็นเกลียวขนาด 20 – 30 เมตร โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้วิจัยและพัฒนามากว่า 3 ปีแล้ว

กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “ การทำโครงสร้างดัดโค้งได้ต้องนำ wood engineer มาใช้ ซึ่งความรู้ดังกล่าวเป็นผลมาจากการไปดูงานต่างประเทศ ทำให้ได้สะสมความรู้และประสบการณ์นำมาต่อยอด ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และได้โครงการ iTAP สนับสนุน โดยบ้านหรือสนามบินในต่างประเทศส่วนใหญ่จะทำด้วย “ไม้” ที่มีการดัดโค้งอย่างสวยงามมาก จึงจุดประกายความคิดให้กลับมาพัฒนา ”

ผลงานโครงสร้างการดัดโค้งไม้ของบริษัทที่พัฒนาและออกแบบขึ้น อาทิ อาคารไม้ทรงกลม คล้ายรูปโลก ขนาด 12 เมตร (เป็นการดัดแบบ3ไดเร็กชั่น หรือ 3 มิติ) มีขนาดเท่ากับตึก 3 ชั้นจุคนได้ ใช้เป็นช่องทางเดินในงานเปิดตัวตามอีเว้นท์ เป็นงานที่ท้าทายและสนุกมาก ซึ่งงานลักษณะนี้จะต้องใช้องค์ความรู้ทั้ง 3 ด้าน Wood Technology , Wood Engineering และ Wood Architecture มาสร้างสรรค์ คิดค้นวิธีการและออกแบบเอง เริ่มทำมาได้ 3 ปีแล้ว

“ ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องเร่งเรียนรู้ รู้เพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ต้องรู้รอบด้าน ยิ่งได้ศึกษาได้อ่านมากจะเห็นว่าทุกอย่างจบที่เรื่องเดียวกัน ตัวอย่างวิชาจิตตะปัญญาศึกษาถือเป็นต้นกำเนิดของการเรียนรู้ทั้งหมดในแง่ของแนวความเข้าใจเชิงบูรณาการคือต้องเรียนรู้และเข้าใจตัวเองให้ลึกซึ้งก่อนเข้าใจคนอื่น เหมือนเสื้อผ้าหนึ่งตัวเรียนไม่รู้จบ ไม้ก็เช่นกัน ขณะที่งานวิจัยของไทยยังเป็นเพียงงานวิจัยขั้นพื้นฐาน แต่บริษัทฯ พัฒนางานวิจัยขั้นสูงและกำลังพัฒนาต่อไปสู่เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ขอเปิดเผย

นอกจากนี้ยังเห็นว่า โครงการ iTAP เป็นโครงการที่ดี ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมาก ถ้าไม่มี iTAP เชื่อว่าการเปิดโลกทัศน์จะเกิดขึ้นได้ช้ากว่านี้ อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดสิ่งใหม่ๆ ตามมา iTAP ยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่า บริษัทฯ ได้รับอะไรหลายอย่างมากมายจาก iTAP ทำให้บริษัทฯ พัฒนาขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ ” กรรมการผู้จัดการ เอส.บี.พี. ทิมเบอร์กรุ๊ป กล่าว

ไม้เป็นวัสดุที่ดีที่สุดในโลกสามารถปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ต่างจากวัสดุอื่นที่ใช้แล้วหมดไป และไม่มีใครปฏิเสธหรือไม่ชอบไม้ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาไม้หัก บิดงอ ไม่ทนทาน แต่วันนี้ได้รับการแก้ไขแล้วด้วยเทคโนโลยี ล่าสุด บจก.SBP Timber Group ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานเรียกว่าไม้ “Accoya”

นำเข้าจากประเทศฮอลล์แลนด์เพียงแห่งเดียวของไทยและในเอเชียจำหน่ายภายใต้แบรนด์ชาเล่ (CHALE’T) เป็นไม้จริงที่ใช้งานภายนอกได้ มีคุณสมบัติพิเศษพัฒนาจากเทคโนโลยีขั้นสูง (เทคโนโลยีดังกล่าวมีมานานกว่า 75 ปี แต่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่นิยม) เป็นการลดอาหารของปลวกในเนื้อไม้ ทำให้ปลวกกินไม้ได้น้อยลงจึงกล้ารับประกันความทนทานนานถึง 50 ปี

โดยบริษัทยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มมากขึ้นด้วย R&D ของไทยพร้อมกับการปลูกไม้ทดแทน และนำ Wood Technology เข้ามาใช้พัฒนาไม้ป่าปลูกดังกล่าวมีความทนทานนานกว่า 50 ปี เพื่อเป็นการตอบแทนคืนสู่สังคม การที่มักกล่าวกันว่าการตัดต้นไม้เป็นการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมนั้น เชื่อว่าจะไม่น่าเกิดขึ้นถ้าได้รับการสื่อสารที่ครบถ้วน