เนื้อหาวันที่ : 2010-12-15 16:04:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 697 views

อียูปรับปรุงระเบียบ RoHS

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นมา อียูได้บังคับใช้ระเบียบ (RoHs) หรือระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสารอันตรายดังกล่าว ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม โครเมียมเฮกซาวาเลนซ์ (Cr-VI) โพลิโบรมิเนทเต็ด ไบฟินิล (polybrominated biphynyles : PBB) และโพลีโบรนิเนทเต็ด ไดฟินิลอีเทอร์ (polybrominated diphymylethers : PBDE)


ต่อมาได้มีการปรับปรุงระเบียบดังกล่าว และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ รัฐสภายุโรป ลงมติผ่านร่างระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางประเภทในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (RoHS) ฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับระเบียบฉบับเก่า จะยังมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนด ๑๘ เดือน (ประมาณกลางปี ๒๕๕๕) ฉบับใหม่จึงจะถูกนำมาใช้แทน


สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ทบทวนหรือปรับปรุงรายการสารเคมีต้องห้าม รวมทั้งข้อยกเว้นต่าง ๆ จะพิจารณาบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ลดภาระของผู้ผลิตในการประเมินความสอดคล้อง รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในของ EU เช่น ระเบียบ REACH หรือ CE Mark


๒. ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ทุกชนิด รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่เคยได้รับการยกเว้นในระเบียบฉบับเดิม เช่น เครื่องมือควบคุมและเครื่องมือทางการแพทย์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าที่เคยได้รับยกเว้นยังไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ RoHs ฉบับใหม่ โดยจะมีเวลาปรับตัว ๘ ปี


๓. กำหนดหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยจะมีกลไกในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ผลิตมีหน้าที่จัดระบบการผลิตภายใน มีการตรวจประเมินระบบ หลังจากนั้นจะต้องออกเอกสารแสดงความสอดคล้อง (Self Certify) พร้อมติดเครื่องหมาย CE Mark บนสินค้าสำเร็จรูป นั้น ๆ เป็นต้น


๔. กำหนดคำนิยามให้มีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีการนำระเบียบมาใช้อย่างถูกต้องตรงกันทั่วสหภาพฯ


ระเบียบฉบับปรับปรุงดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากคณะมนตรียุโรปก่อน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ๒๐ วัน หลังจากตีพิมพ์ใน Official Journal ของสหภาพยุโรป โดยประเทศสมาชิกมีเวลา ๑๘ เดือนในการนำไปกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ภายในประเทศตน


นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และ อิเล็กทรอนิกส์ไป EU โดยเฉลี่ย (๒๕๕๐ – ๒๕๕๒) มูลค่ารวม ๒๕๓,๒๒๕ ล้านบาท และในปี ๒๕๕๓ (ม.ค. – ต.ค.) ส่งออกมูลค่า รวม ๒๐๔,๒๐๖ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๖.๒๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๒