เนื้อหาวันที่ : 2010-12-15 11:41:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 676 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวัน 15 ธ.ค. 2553

1. ครม. ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8 – 17 บาท ทั่วประเทศมีผล 1 ม.ค. 54

-  คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอ ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2554 ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ครม. อนุมัติดังกล่าวเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาท


-  สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาอยู่ที่ 176 จาก 165 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ต่อปีจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงจากกรณีฐานที่ไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2554 ที่เท่ากับร้อยละ 4.5 ต่อปี ประมาณร้อยละ -0.13


เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังขยายตัวน้อยกว่าการลดลงของการลงทุนภาคเอกชนและการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จึงส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงจากกรณีฐาน


2. ททท.ทุ่มงบมากกว่า 15 ล้านบาท กระตุ้นนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลไฮซีซัน

-  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยว่าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 54 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทุ่มงบมากกว่า 15 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมใน 27 จังหวัด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้คอนเซปต์ “สยามสนุก” สำหรับเดือน ธ.ค.53 และ “สวัสดีเมืองไทย” สำหรับเดือน ม.ค.54


ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างกระแสการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ แบ่งเป็น ไทยที่มีระยะพำนัก 1 คืน 2.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อปี นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อปี ซึ่งจะสร้างรายได้รวมจากการเดินทางช่วงดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อปี


-  สศค. วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยนับจากต้นปี 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 14.04 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี สะท้อนว่าการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 52 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 ธ.ค. 53 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(มีสัดส่วนร้อยละ 70 จากด่านทั้งหมด) จำนวน 4.13 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี


ทั้งนี้ สศค.คาดว่าทั้งปี 53 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 15.6 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติ (ตามระบบ BOP Basis) ประมาณ 6.17 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี


3. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง

-  สำนักข่าว Reuters รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของญี่ปุ่นจากการสำรวจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Tankan survey) ในไตรมาสที่ 4 ปี 53 ปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นการผลิตของบริษัทใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม (Big manufacturer index) ปรับลดลง 5 จุดมาอยู่ที่ระดับ +3  และดัชนีความเชื่อมั่นการผลิตของบริษัทใหญ่นอกภาคอุตสาหกรรม (Big non-manufacturer index) ปรับตัวลดลงจากระดับ +2 มาอยู่ที่ระดับ 0


-  สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าญี่ปุ่นที่ยังคงมีความเปราะบาง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 9.96 จากต้นปี และมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.3 ต่อปี


อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคตอาจจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ผลมาจากนโยบายการเงินที่รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำและการส่งออกไปยังประเทศเกิดใหม่ในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี 53 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.3 ต่อปี

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง