เนื้อหาวันที่ : 2010-12-13 12:10:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2565 views

ตลาดเกิดใหม่ในศตวรรษที่ 21

พลังของโลกาภิวัตน์ได้ช่วยย่นย่อให้โลกใบนี้เล็กลง และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วยิ่งมีส่วนทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป บทความนี้จะทำให้ท่านรู้เรื่องราวความเป็นไปของโลกเศรษฐกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

Emerging Markets
ตลาดเกิดใหม่ในศตวรรษที่ 21

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ผู้เขียนพยายามที่จะหา “ซีรีส์เศรษฐกิจ” มาแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเรื่องราวความเป็นไปของโลกเศรษฐกิจในทุกวันนี้นะครับซีรีส์ชุดที่แล้ว ผู้เขียนพูดถึง “เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” ว่ามีอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ได้ช่วยย่นย่อให้โลกใบนี้เล็กลง และด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีเครื่องมือสื่อสารอันทันสมัยล้วนมีส่วนทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่ถึงยี่สิบปี

.

โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าภายใต้คำเก๋ ๆ ที่เรียกว่า “การค้าเสรี” หรือ Free Trade ซึ่งไอ้เจ้าการค้าเสรีนี่เองแหละครับที่ทำให้เกิดการต่อสู้ทางการค้าจนบางครั้งกลายเป็น “สงครามการค้า” กันเลยทีเดียว

.

ปลายทศวรรษที่เก้าสิบเป็นยุคที่พูดถึงเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการแข่งขัน ทั้งนี้แนวคิดของจอห์น วิลเลียมสัน (John Williamson) ที่เรียกว่า Washington Consensus หรือ “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” นั้นเน้นให้รัฐลดบทบาทตนเองลงในระบบเศรษฐกิจ รักษาวินัยทางการคลัง แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่อาจเลี้ยงตัวเองได้ ปฏิรูปภาษี ลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุน พร้อม ๆ กับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น

.

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนสะท้อนให้เห็นภาพการแข่งขันที่ท้าทายในโลกทุนนิยมที่ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือจัดสรรทรัพยากร ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมแลกมาด้วยความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นไม่สามารถปฏิเสธได้เลย

.

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” จะได้รับการยอมรับในฐานะเป็นชุดนโยบายการพัฒนาของประเทศเสรีนิยมสมัยใหม่ คือ เหตุการณ์ล่มสลายของพี่ใหญ่แห่งโลกสังคมนิยมอย่าง “สหภาพโซเวียต”ในช่วงต้นทศวรรษ 90 ที่ตอกย้ำให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่มีรัฐเป็นผู้จัดการวางแผนแทรกแซงทุกอย่างนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

.

จอห์น วิลเลียมสัน (John Williamson) กับแนวคิดเรื่อง Washington Consensus
ที่ได้กลายเป็นชุดนโยบายทางเศรษฐกิจของโลกเสรีนิยม

.

กลับมาที่ซีรีส์ชุดใหม่ดีกว่าครับ, สำหรับซีรีส์ชุดนี้ผู้เขียนตั้งใจที่จะแนะนำศัพท์คุ้นหูคำหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศัพท์คำที่ว่านี้ คือ Emerging Markets หรือ ถ้าแปลเป็นไทยแบบตรงตัว คือ “ตลาดเกิดใหม่” นั่นเองครับ

.
รู้จัก Emerging Markets ตลาดเกิดใหม่ในศตวรรษที่ 21

โดยทั่วไปแล้วคำว่า Emerging Markets มักจะใช้คู่กับ Emerging Economy หรือ “เศรษฐกิจเกิดใหม่” ซึ่งคำ ๆ นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในต้นทศวรรษที่แปดสิบครับ โดย Antoine Van Agtmael นักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายความหมายของเศรษฐกิจเกิดใหม่ไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ (Transitional Phase) ของประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) สู่สถานะของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country)

.

The Emerging Markets Century
หนังสือขายดีของ Antoine Van Agtmael

.

ก่อนอื่นต้องเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อนครับว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น “ธนาคารโลก” นับเป็นองค์กรโลกบาลที่มีบทบาทมากที่สุดองค์กรหนึ่งในการเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบที่นักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกเป็นผู้คิดค้นขึ้น

.

แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของธนาคารโลกเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 60 ครับ โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้พิทักษ์โลกเสรีนิยมและทุนนิยมต้องทำ “สงครามเย็น” กับสหภาพโซเวียต “พี่ใหญ่” แห่งโลกคอมมิวนิสต์

.

ธนาคารโลกมีบทบาทในการช่วยพิทักษ์ลัทธิทุนนิยมและการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยแนะนำแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโดยมีรัฐเป็นผู้วางนโยบายและแผนการพัฒนาพร้อมทั้งให้เงินกู้แก่ประเทศทั้งหลายโดยจัดชั้นประเทศเหล่านั้นว่าเป็น “ประเทศด้อยพัฒนา” ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือ “กำลังพัฒนา” นั่นเองครับ

.

การจัดชั้นประเทศใดพัฒนาแล้ว ประเทศใดด้อยพัฒนานั้นใช้เกณฑ์จากผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GNP หรือ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เป็นเครื่องแยกแยะว่าประเทศใดด้อย ประเทศใดพัฒนาแล้ว ซึ่งเครื่องมือตัวนี้จะว่าไปแล้วเป็นตัวชี้วัดที่ “หยาบ”และวัดได้ในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ จนหลายครั้งเรามักจะเข้าใจว่า “การพัฒนา” (Development) กับ “ความทันสมัย” (Modernization) นั้นเป็นคำ ๆ เดียวกัน

.

กรอบคิดการพัฒนาของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกนั้น เชื่อในเรื่องของ “ตัวเลขการจำเริญเติบโต” ครับ จนบางครั้งหลงลืมคำว่า “คุณค่า” ของการพัฒนาไป

.

การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของฝรั่งนำพามาซึ่งปัญหาจากการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราเน้นการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่าไหร่ เราย่อมทำทุกอย่างเพื่อให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริโภคมากขึ้น ผลิตเพิ่มขึ้น ลงทุนมากขึ้น รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น แข่งกันส่งออกมากขึ้น  

.

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ GDP เพิ่มสูงขึ้นครับ เพราะการที่ตัวเลขดังกล่าวสูงย่อมหมายถึงรายได้ของประชาชนภายในประเทศย่อมสูงตามไปด้วย โดยไม่ได้คำนึงว่า “การกระจายรายได้” และ“โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร” ของผู้คนส่วนใหญ่นั้นเป็นอย่างไร

.

ทั้งนี้จากประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายตามแนวทางของธนาคารโลกนั้นกลับเป็นที่น่าผิดหวังนะครับ เพราะยิ่งพัฒนา กลับยิ่งเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศด้อยพัฒนายิ่งเพิ่มสูงขึ้น บางครั้งการพัฒนากลับไปสร้างสภาพการเป็น “อาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ให้กับประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้น   

.

เพราะแนวทางการพัฒนาไม่ได้สอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อมของประเทศตนเอง เช่น ประเทศที่มีจุดแข็งในภาคเกษตรกลับมุ่งเน้นไปสู่การเป็นภาคอุตสาหกรรมโดยใช้ภาคเกษตรตลอดจนแรงงานจากภาคเกษตรเป็น “ปัจจัยการผลิตราคาถูก” จนสร้างสภาพเมืองหัวโตโดยมีชนบทเป็นแขนขาที่ลีบเล็กไม่ได้พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

.

ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพียงแต่พี่น้องร่วมชาติของเราจะหลุดพ้นจากความยากจนได้ก็ด้วยการสร้าง “ภูมิปัญญา” แห่งการพัฒนาให้กับสังคมเราเองก่อนครับ พูดไปให้ดูเหมือนง่ายนะครับ แต่เวลาลงมือปฏิบัติจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะภูมิปัญญาจำเป็นต้องมาจาก “ปัญญา” ที่แท้ที่สามารถใช้วิชาความรู้จากทุกศาสตร์มาประยุกต์กับสภาพบริบทของสังคมเราเองได้ด้วย

.

กลับมาที่ Emerging Markets กันต่อดีกว่าครับ, Antoine Van Agtmael ได้แบ่งกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือตลาดที่จะเกิดใหม่ไว้ในแต่ละภูมิภาค คือ ในลาตินอเมริกา ประเทศที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด คือ บราซิลและเม็กซิโก ครับ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ Southeast Asia ของเรา ทั้งภูมิภาคได้รับการจัดอันดับให้เป็นกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นเดียวกัน

.

ขณะที่ในยุโรปตะวันออก อย่างสาธารณรัฐเชค ฮังการี โปแลนด์และรัสเซีย ก็เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะเติบโตได้ในไม่ช้า ส่วนในตะวันออกกลางนั้นประเทศในกลุ่มอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf Arab States) ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกันโดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ที่ดูจะไปได้ไกล นอกจากนี้ในทวีปแอฟริกาดูเหมือนว่าแอฟริกาใต้จะโดดเด่นกว่าใครเพื่อน

.

Antoine Van Agtmael

.

อย่างไรก็ตามคำว่า Emerging Markets ได้ถูกนิยามรวม ๆ กันไว้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจและสังคมที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดจนมีแนวโน้มที่จะก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม (Industrialization) ในอนาคต

.

ปัจจุบันมี 28 ประเทศที่ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย (รวมกันเป็น Chindia) นี่ก็นับว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่โตอยู่แล้ว  นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันเป็นเขตการค้าเสรีทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนหรือ The ASEAN-China Free Trade Area เมื่อต้นปี 2010 ได้ถูกจัดให้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ครับ

.

The ASEAN-China Free Trade Area
Emerging Markets ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

.

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการแข่งขันทั้งทางการค้าและการลงทุน โดยในแง่การค้า แต่ละประเทศพยายามสร้างความสามารถการแข่งขันทางการค้าให้ได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะ “จีน” เมื่อเข้ามาสู่ตลาดการค้าโลกเต็มตัวแล้ว จีนสามารถส่งออกสินค้าไปขายทั่วโลกได้ชนิดที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

.

หลายต่อหลายครั้งสงครามการค้าผูกโยงกับเรื่อง “อัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า ทุกวันนี้ เงินดอลลาร์ เงินเยน เงินหยวน และเงินยูโร ได้กลายเป็นเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนต่างให้ความเชื่อมั่นในการถือเป็นเงินสกุลหลัก พร้อมกันนั้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการเก็งกำไรไม่เฉพาะค่าเงินหากแต่ยังล่วงไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ประเภทอื่น เช่น ทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าการเกษตร เป็นต้น

.

ความซับซ้อนของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Blocs) ขึ้นเพื่อประสานและแสวงหาความร่วมมือ พึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อรับมือกับความผันผวนของโลกเศรษฐกิจ ดังเช่นที่ EU ประสบความสำเร็จตั้งแต่สามารถออกเงินสกุลยูโรมาให้ประเทศสมาชิกได้ใช้ร่วมกัน

.

สำหรับประเทศในกลุ่ม Emerging Markets นั้น ดูเหมือนกลุ่มประเทศที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุด คือ กลุ่ม BRIC ที่ประกอบไปด้วย Brazil- Russia –India- China ซึ่งทั้งสี่ประเทศนี้ถูกคาดหมายว่าจะเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุที่มีประชากรจำนวนมาก มีทรัพยากรเหลือเฟือ ตลอดจนมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองเท่าใดนัก

.

สี่ผู้นำแห่งกลุ่มประเทศ BRIC
ซ้ายสุด ดร.มาโมฮาห์น ซิงห์ (อินเดีย), ดมีตรี เมดเวเดฟ (รัสเซีย), หู จิ่น เทา (จีน) และ ลูล่า ดา ซิลว่า (บราซิล)

.

นอกจาก BRIC แล้วยังมีกลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายประเทศที่อยากมาผูกสัมพันธ์กับ BRIC ด้วย เช่น BRICET คือ กลุ่มประเทศ BRIC รวมกับยุโรปตะวันออก (Eastern Europe) และ ตุรกี (Turkey) เช่นเดียวกับ BRICS ที่รวมเอาแอฟริกาใต้ (South Africa) เข้ามาไว้ด้วย หรือจะเป็น BRICM ที่รวมเม็กซิโก (Mexico) อีกหนึ่งประเทศน่าจับตาจากอเมริกากลาง รวมทั้ง BRICK ซึ่งมีความหมายว่า “ก้อนอิฐ” ที่รวมเอาเกาหลีใต้ (South Korea) เข้ามาสร้างความแข็งแกร่ง

.

อย่างไรก็ดีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สมควรกล่าวถึงอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า CIVETS ครับ ซึ่งว่ากันว่าหลังจาก BRIC แล้วกลุ่ม CIVETS คือ ประเทศที่มีอนาคตสดใสมากที่สุดในอีกสิบปีข้างหน้า โดย CIVETS ประกอบไปด้วย Columbia-Indonesia-Vietnam-Egypt-Turkey-South Africa ครับ 

.

เห็นมั๊ยครับว่าทั้งหกประเทศนี้มีเพื่อนบ้านจากอาเซียนถึงสองประเทศ คือ อินโดนีเซียและเวียดนาม น่าสนใจนะครับว่าเพราะเหตุใดนักวิเคราะห์ถึงให้เครดิตกับทั้งสองประเทศนี้โดยมองข้ามบ้านเราไปแบบไม่ใยดี

.

เหตุผลง่าย ๆ คือ อินโดนีเซียมีประชากรมากครับ แถมยังมีทรัพยากรที่สมบูรณ์อยู่ ขณะที่การเมืองก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยในยุคของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน่ (Susilo Bambang Yudhoyono)ส่วนเวียดนามคงไม่ต้องสาธยายกันมากแล้วนะครับ เพราะนับตั้งแต่เวียดนามเริ่มเปิดประเทศเป็นจริงเป็นจังด้วยนโยบาย “โด่ยเหม่ย” (Doi Moi) นั้น เวียดนามก็ค่อย ๆ ถีบตัวเองขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดชาติหนึ่งของไทย จนทุกวันนี้เราอาจจะต้องยอมรับโดยดุษฎีแล้วว่าพวกเขากำลังจะก้าวแซงเราไปแล้ว

.

ประธานธิบดีบัมบัง ยูโดโยโน่ ของอินโดนีเซีย และประธานาธิบดีเหวียน มินห์ เจียต ของเวียดนาม
สองผู้นำแห่งชาติอาเซียนในกลุ่ม CIVETS ที่ว่ากันว่าจะกลายเป็นกลุ่มประเทศดาวรุ่งในสิบปีข้างหน้า

.

เขียนมาถึงตรงนี้รู้สึก “หดหู่” นะครับ เพราะบ้านเรามัวแต่ทะเลาะกันเอง เราเสียเวลากันมากี่ปีแล้วครับกับการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครอง เพราะความไม่แน่นอนของการเมืองไทยทำให้เราเสียโอกาสที่จะก้าวไปได้ไกลกว่าที่ควรจะเป็น 

.

สำหรับบ้านเรานั้นก็ถูกจัดอยู่ในลิสต์ของ Emerging Markets ด้วยเช่นกันครับ โดยทุกสำนักจัดอันดับยกให้ไทยแลนด์เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ด้วยเหตุผลที่เรามีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากการพัฒนาที่พยายามมุ่งสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือ NICS หรือ “เสือตัวที่ห้า” ของเอเชีย ก่อนจะกลายเป็นแมวเซื่อง ๆ หลังจากเจอพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไปเมื่อปี 1997

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1.
www.wikipedia.org
2. The Emerging Markets Century, Antoine Van Agtmael
3. After BRICs, ,look to CIVETS for growth,
http://www.reuters.com/article/idUSLDE63Q26Q20100427