เนื้อหาวันที่ : 2010-12-10 10:20:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 729 views

S&P ปรับะดับความน่าเชื่อไทยอยู่ที่ระดับมีเสถียรภาพ

การประกาศผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard & Poor’s


นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard & Poor’s (S&P’s) ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 S&P’s ได้ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวที่ออกโดยรัฐบาลไทยจากระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) มาเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)


และปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale จาก axAA- มาเป็น axAA และได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (Long-term/Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long - term/ Short - term Local Currency Rating) ที่ระดับ A-/A-2


โดย S&P’s ชี้แจงว่า การปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ สะท้อนถึงมุมมองของ S&P’s ว่า เศรษฐกิจของไทยและสถานะการคลังของรัฐบาลได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบาย


อย่างไรก็ตาม S&P’s อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในอนาคตหากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการคลังมีการปรับลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หรือในทางกลับกัน S&P’s อาจปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยกลับสู่ความมีเสถียรภาพซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสถานะทางการคลังของประเทศ


สำหรับปัจจัยหลักที่สนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยมี 3 ประการ ได้แก่ (1) สถานะหนี้ต่างประเทศสุทธิ (2) วินัยการบริหารจัดการทางด้านการคลัง และ (3) ภาระหนี้สุทธิของรัฐบาลที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่ง S&P’s คาดการณ์ว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปี 2553 ซึ่งทุนสำรองเงินตราดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันหากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติทางเศรษฐกิจและการเงิน


S&P’s มองว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลที่เกินดุลในช่วง 2-3 ปี ก่อนปี 2552 ได้ส่งผลให้หนี้โดยตรงสุทธิของรัฐบาล ณ สิ้นปี 2552 ต่ำกว่าร้อยละ 20.3 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าค่ามัธยฐานของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่ม BBB อย่างมีนัยสำคัญ


โดยหนี้ที่ลดลงและสภาวะตลาดเงินในประเทศที่เอื้ออำนวยทำให้ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ร้อยละ 5.3 ของรายได้ของรัฐบาล ถึงแม้ว่าระดับรายได้ของรัฐบาลจะอยู่ที่ร้อยละ 20.3 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม BBB
 
ที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเคยจัดได้ว่าเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจก็ตาม แต่ปัจจุบันในการตัดสินใจลงทุนระยะยาว นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น


นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลลบต่อความน่าเชื่อถือของไทยอีกปัจจัยหนึ่ง ได้แก่ สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ซึ่งหมายรวมถึงหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างแล้ว) ในระบบธนาคารที่จะเป็นปัจจัยถ่วงสำหรับผลการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์


ซึ่งในมุมมองของ S&P’s ปัญหาดังกล่าวเกิดจากโครงสร้างทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายและกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร โดย S&P’s เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบของการธนาคารในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง