เนื้อหาวันที่ : 2010-12-09 14:30:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1222 views

WWF วอนอาเซียนลุกขึ้นปกป้องสภาพภูมิอากาศและประชาชน

กรีนพีซ อ็อกซ์แฟม กองทุนสัตว์ป่าโลก เรียกร้องอาเซียนให้ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศและประชาชนในภูมิภาค ในการประชุมโลกร้อนที่แคนคู


กรีนพีซ อ็อกซ์แฟม กองทุนสัตว์ป่าโลก เรียกร้องอาเซียนให้ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศและประชาชนในภูมิภาค ในการประชุมโลกร้อนที่แคนคู


กรีนพีซ อ็อกซ์แฟม กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ภายใต้การรวมกลุ่ม A-FAB (ASEAN for a Fair, Ambitious, and Binding global deal) หรือ อาเซียนเพื่อข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เรียกร้องผู้แทนอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่แคนคูนให้เดินหน้าผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของ 10 ประเทศในกลุ่ม และเพื่ออนาคตของภูมิภาค


ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนและเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในขณะเดียวกันอาเซียนยังเป็นกลุ่มประเทศที่สมควรได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงสากลดังกล่าว


ตัวแทนจาก A-FAB ได้เดินทางไปยัง Moon Palace ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้แทนจาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนลุกขึ้นเป็นกระบอกเสียงในฐานะตัวแทนของประชาชนหลายล้านคนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีการเตรียมการรับมือน้อยที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


“หลังจาก 1 สัปดาห์ของการประชุมได้ผ่านพ้นไป พร้อมกับกระบวนการที่ล่าช้า ข้อสรุปที่ไม่เห็นพ้องในประเด็นสำคัญต่างๆของการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องมีท่าทีที่แข็งแกร่งในการผลักดันเรื่องการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เซลดา โซริยาโน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


“ในการเจรจาเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) อย่างเช่น ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศป่าไม้อื่นๆในอาเซียน ที่จะได้รับประโยชน์จาก REDD จะต้องลุกขึ้นพูด


นอกจากนี้ การจัดทำบัญชีการลดการทำลายป่าในระดับประเทศที่จะถูกบรรจุอยู่ในเนื้อความใหม่ของการเจรจาในสัปดาห์นี้ จะต้องมีการนิยามคำว่า ระดับประเทศที่ย่อยลงไป (sub-national) อย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำลายป่าจากที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถใช้วิธีการลดการทำลายป่าเป็นข้ออ้างในการเพิ่มการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของตน “ เซลดากล่าว


จียา อีไบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศฟิลิปปินส์ ชี้แจงถึงการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นโอกาสที่จะขยายผลประโยชน์จากการเจรจาในฐานะที่อาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศในกลุ่ม


และจียายังได้กล่าวว่า “เสียงของ 10 ประเทศในอาเซียนเพื่อกองทุนสภาพภูมิอากาศภายใต้การเจรจา UNFCCC พร้อมกับองค์ประกอบสำคัญ กระบวนการ และรายละเอียดสำหรับการดำเนินการกองทุน ย่อมมีน้ำหนักกว่าการที่รัฐบาลจากเพียง 1 ประเทศเรียกร้องข้อเรียกร้องเดียวกันนี้”


“มีความจำเป็นของประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะจัดสรรเงินทุนให้เปล่าอย่างน้อย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 เพื่อสนับสนุนมาตรการลดผลกระทบและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ควรจะมีบทบัญญัติเพื่อเพิ่มเติมเงินทุนในกองทุนสภาพภูมิอากาศโลก


ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากประเทศในกลุ่ม Annex 1 เทียบเท่ากับร้อยละ 0.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP ภายในปี 2563 เช่นกัน” ชาลิเมอร์ วิทัน ผู้ประสานงานนโยบายระดับภูมิภาค อ็อกซ์แฟมสากลกล่าว “ดังนั้น เราจึงคาดหวังให้อาเซียนมีความเข้มแข็งในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเจรจาครั้งนี้”