เนื้อหาวันที่ : 2007-02-27 17:41:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7064 views

โรงไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงแกลบ จากพืชสู่พลังงาน

พลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ของประชาชน และเป็นปัจจัยการผลิต ที่สำคัญในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วย รัฐจึงต้องมีการจัดหาพลังงาน ให้มีปริมาณที่เพียงพอ มีราคาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ ที่ดีสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้

.

พลังงานมีความสำคัญและมีบทบาทต่อสิ่งมีชีวิต  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานในการประกอบกิจกรรมหรือการปฏิบัติงานต่าง ๆ มนุษย์เราในชีวิตประจำวันก็ต้องพึ่งพาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดำรงชีวิตของแต่ละคนก็จะใช้พลังงานแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะต้องพึ่งพลังงานตลอด 7 วัน และ 24 ชั่วโมง เพราะทุกอย่างในปัจจุบันต้องอาศัยพลังงานในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดกระบวนการ การกระทำ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของแต่ละคน

.

พลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ของประชาชน และเป็นปัจจัยการผลิต ที่สำคัญในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วย รัฐจึงต้องมีการจัดหาพลังงาน ให้มีปริมาณที่เพียงพอ มีราคาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ ที่ดีสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งถ้าหากเราย้อนกลับมาดูการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศของนั้น เกิดขึ้นจริง ๆ ในยุคของรัฐบาล ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้น เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศให้เป็นระบบ โดยรัฐบาลมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่ในธรรมชาติให้มากขึ้น เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

.

พลังงานชีวมวลเป็นอีกพลังงานทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจ ซึ่งในคอลัมน์ Plant Tour จะนำพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับโรงไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิง แกลบ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ของ บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์  จำกัด โดยในการเดินทางเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ในครั้งนี้  ได้รับการต้อนรับจากคณะผู้บริหาร พนักงานและเจ้าหน้าที่ของบริษัทอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงชนะพันธุ์ กฤดากร ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้มาอธิบายให้ทราบถึงความเป็นมาของบริษัทและแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะรุกก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และคณะเจ้าหน้าที่ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมกระบวนการและขั้นตอนการผลิตแสไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวมวลโดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง

.

.

COMPANY PROFILE

บริษัท  เอ.ที. ไบโอพาวเวอร์ จำกัด

สำนักงานใหญ่                 เลขที่ 719 อาคารเคพีเอ็นทาวเวอร์ ชั้น 14 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ

                                                เขตห้วยขวาง  กรุงเทพมหานคร 10320 โทรศัพท์ : 0-2717-0445-8 โทรสาร :  0-2717-0449

โรงงาน                          เลขที่ 96 หมู่ 2 ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร  66120

                                                โทรศัพท์ : 0-5666-0378-83 โทรสาร : 0-5666-0384

ประเภทของโรงไฟฟ้า       รงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

ระบบการเผาไหม้              การเผาไหม้แบบลอยตัว

ระบบการดักจับเถ้า                ระบบไฟฟ้าสถิต สามารถดักจับเถ้าได้สูงถึงร้อยละ 99.5 %

วัสดุเชื้อเพลิงชีวมวล          แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กากและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า

ก่อตั้งเมื่อ                        พ.ศ.2542

ทุนจดทะเบียน                 451,959,100 บาท

กำลังการผลิต                   20 เมกะวัตต์

เว็บไซต์                          www.atbiopower.co.th  

.
ผู้ร่วมลงทุนของโครงการ

- บริษัท ซูบุ อีเลคทริค พาวเวอร์ คัมปะนี อินเตอร์เนชั่นแนล บี.วีซ จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท ซูบุ อีเลคทริค พาวเวอร์ คัมปะนี อินคอร์ปอร์เรท ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศญี่ปุ่น

- บริษัท อัลเทย์ยาร์ เอนเนอร์ยี ลิมิเต็ด กองทุนอิสระเพื่อการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- ไพรเวท-เอนเนอร์ยี มาร์เก็ต ฟันด์ กองทุนเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานจากประเทศฟินแลนด์

- ฟินนิช ฟันด์ ฟอร์ อินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น ลิมิเต็ด เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงของประเทศฟินแลนด์มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุนระยะยาวในโครงการต่าง ๆ ของประเทศกำลังพัฒนา

- บริษัท แฟลกซิพ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์จากประเทศไทย

- โรลส์-รอยส์ พาวเวอร์ เวนเจอร์ส (เจ้าพระยา) ลิมิเต็ด ผู้ร่วมพัฒนางานโครงการพลังงานทั่วโลกจากประเทศอังกฤษ

.
โรงไฟฟ้าชีวมวลพลังงานแกลบ

ชีวมวลเป็นอินทรีย์สารที่ได้จากพืชและสัตว์ต่าง ๆ เช่น แกลบ เศษไม้ ขยะ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่หาได้ในประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก  ชีวมวลเหล่านี้สามารถนำมาเผาไหม้ เพื่อนำพลังงานความร้อนที่ได้ไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี  โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุจากเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งได้แก่ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กากจากผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น  แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กากและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อเพลงในการผลิตไฟฟ้าและพลังไอน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นเศษวัสดุชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ โดยชีวมวลแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป อย่างเช่น แกลบ จะให้ค่าความร้อนสูง เนื่องจากมีความชื้นต่ำ

.

แกลบเป็นผลพลอยได้จากข้าวเปลือกซึ่งมนุษย์เราเริ่มรู้จักแกลบจากการบริโภคข้าวเมื่อหลายพันปีก่อน และปัจจุบัน กายเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ โดยเป็นชีวมวลที่อาจจะมองข้ามไปเสียมิได้ จากที่เคยมีบทบาทในทางการเกษตรของชาว เช่น ใส่ในที่นาเพื่อทำเป็นปุ๋ย  ใส่ลงไปในโคนต้นไม้ทำเป็นปุ๋ย  ใส่ลงไปในคอกวัวควายเป็นปุ๋ยหมัก ใส่ไปในคอกไก่กันความชื้น นำไปเผาอิฐและเผาถ่านไม้ และในที่สุดกลับกลายมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วงโคจรวิกฤตพลังงาน

.

.
โรงไฟฟ้าชีวมวล เอ.ที. ไบโอพาวเวอร์ พิจิตร

บริษัท เอ.ที. ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ได้ก่อตั้งและจดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2542  เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของบริษัทฯ ขึ้นที่จังหวัดพิจิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการโรงไฟฟ้า โดยใช้กากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้  แต่ในปัจจุบันใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง โดยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ 20 เมกะวัตต์  และได้ทำสัญญาขายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี  โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงได้ให้เอกชนมาร่วมสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producers หรือ SPP) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลาปาล์ม เศษไม้กิ่งไม้ เป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อช่วยพัฒนาพลังงานทดแทน เสริมระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่แหล่งพลังงานประเภทฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ที่ใช้แล้วหมดไปเช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน มีปริมาณร่อยหรอลดน้อยลงทุกวัน โดยในปัจจุบันร้อยละ 90 ใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานเหล่านี้ ซึ่งในประเทศไทยคงจะหมดภายใน 30 ปี หากไม่สามารถขุดหาเพิ่มเติมได้

.

นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เป็นแห่งแรกในเมืองไทย

เตาเผาชนิด Suspension fired ใช้เชื้อเพลิงวัสดุเหลือใช้ทางด้านการเกษตรยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในประเทศไทย ส่วนเตาเผาที่มีใช้กันอยู่แพร่หลายในประเทศจะเป็นประเภท Stoker หรือ Fluidized Bed เช่น ในโรงงานน้ำตาลทั่วไปที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่จะใช้ประเภท Stoker หรือโรงสีที่มีการผลิตไฟฟ้าใช้ในกระบวนการสีข้าวโดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง จะมีใช้ทั้ง Stoker หรือ Fluidized Bed  Stoker และ Fluidized Bed จะแตกต่างจาก Suspension Fired ตรงที่ไม่มีการบดเชื้อเพลิงให้ละเอียดและผสมเชื้อเพลิงกับอากาศก่อนป้อนเข้าเตาเผา การป้อนเชื้อเพลิงจะใช้การป้อนโดยน้ำหนัก เชื้อเพลิง (Gravity Flow) แต่บางชนิดเช่น Pneumatic Spreader Stoker ก็ใช้แรงลมช่วยส่งให้เชื้อเพลิงกระจายไปใน เตาเผาได้ไกลขึ้น ในระบบเผาไหม้แบบ Stoker เชื้อเพลิงส่วนใหญ่จะเกิดการเผาไหม้บนตะกรับ (Grating Plate) โดยมีอากาศช่วยในการเผาไหม้เป่าเข้ามาจากด้านล่างหรือด้านข้าง  การเผาไหม้ชนิด Suspension–Fired โดยใช้เชื้อเพลิงแกลบมีจำนวนไม่มากเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับการเผาไหม้ชนิดอื่น แต่ก็มีการใช้กันมาแล้วกว่า 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้า อกริเลคตริก และมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแกลบโดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันในอเมริกาใต้และออสเตรเลียเพิ่มขึ้น รายละเอียดปรากฏในตารางที่ 1

.

ตารางที่ 1 แสดงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแกลบที่ใช้ระบบการเผาไหม้แบบลอยตัว

.

ระบบการเผาไหม้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ได้เลือกใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบ Suspension - Fired มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง สามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงแกลบได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดควันดำและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี สามารถควบคุมคุณภาพเถ้าซึ่งเป็นผลพลอยได้ค่อนข้างแน่นอน  ทำให้สามารถผลิตเถ้าได้คุณภาพที่มีประโยชน์มากขึ้น  โดยขี้เถ้าที่ออกมาจากกระบวนการเผาไหม้นั้นจะไปผ่านเครื่องดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต ก่อนจะออกจากปลายปล่อง คุณภาพการดักฝุ่นของอุปกรณ์ดังกล่าวสูงถึง 99.53 % ฉะนั้น จะไม่เป็นควันดำถูกปล่อยออกจากโรงงาน

.

หลักการทำงานของเตาเผาเชื้อเพลิงแกลบชนิด Suspension Fired ของบริษัท เอ . ที . ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด ก็เช่นเดียวกัน เชื้อเพลิงแกลบจะถูกบดให้ละเอียดโดยเครื่องบด แกลบที่แตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กจะเพิ่มพื้นที่ในการเผาไหม้บนเชื้อเพลิงทำให้เผาไหม้แกลบได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันน้ำหนักที่เบามีความเหมาะสมที่จะใช้อากาศในการขนส่ง ดังนั้น  เมื่อพ่นผ่านหัวพ่นเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงแกลบส่วนใหญ่จะถูกเผาไหม้ในขณะลอยตัว ในเตาเผาเถ้าเบาขนาดเล็กที่ได้จากการเผาไหม้มีน้ำหนักเบาปลิวออกไปตามแรงอัดอากาศ แต่เนื่องจากอัตราการเผาไหม้ของแกลบจะช้ากว่าถ่านหินมาก ดังนั้น  แกลบบางส่วนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ายังเผาไหม้ไม่หมดจะตกลงบนแผ่นตะกรับ ที่อยู่ด้านล่างของเตาเผาและจะยังคงเผาไหม้ต่อไปจนกลายเป็นเถ้าหนัก โดยแผ่นตะกรับจะทำหน้าที่ควบคุมการเผาไหม้คาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุดในเถ้าหนัก โดยการปรับระยะเวลาการกระดกของแผ่นตะกรับให้เกิดการเผาไหม้ให้นานขึ้นหรือลดลง เมื่อแผ่นตะกรับกระดกก็จะปล่อยให้เถ้าหนักตกลงด้านล่างและถูกกวาดออกไปด้วยระบบขนส่งชนิดเดือยหมู

.

. 

 

.
กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแกลบ

หลักการหรือกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแกลบ มีความคล้ายคลึงกับโรงไฟฟ้าพลังงาน ความร้อน ( Thermal Power Plant ) ทั่ว ๆ ไป กระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแกลบ ของ เอ.ที. ไบโอพาวเวอร์ ได้เลือกใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้ชนิดเผาไหม้ แบบลอยตัว (Suspension - fired) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่ใช้อยู่ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแกลบของบริษัท อะกริเล็คทริค ในรัฐหลุยส์เซียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบในการศึกษาและกำหนด คุณสมบัติของเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย ด้วยเทคโนโลยีการเผาไหม้ชนิดนี้ทำให้ได้เถ้าแกลบที่มีคุณภาพดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการฝังกลบเถ้าแกลบ โดยมีขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า ดังนี้  

1) น้ำดิบจากคลองชลประทาน จะนำไปผ่านกระบวนการกรองเป็นน้ำประปาเพื่อใช้ภายในโรงงาน ใช้ในระบบหล่อเย็น และนำไป  ขจัดแร่ธาตุเพื่อส่งผ่านไปใช้ยังเครื่องผลิตไอน้ำ

2) แกลบจะถูกลำเลียงจากลานกองด้วยสายพานต่อเนื่องเข้าสู่เครื่องบดให้ละเอียด ภายในโรงงานที่ปิดมิดชิด

3) แกลบที่บดละเอียดแล้วจะถูกลำเลียงด้วยลมส่งเข้าเก็บในไซโล และส่งด้วยลมเข้าสู่เตาเผาประเภท Suspension-fired แกลบที่พ่นเข้าเตาเผาจะติดไฟและไหม้ทันที จะได้ความร้อนเพื่อใช้ ในการผลิตไอน้ำ การใช้ลมพ่นผงแกลบในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้แกลบเกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีควันดำอย่างการเผาไหม้ระบบอื่น

4) ไอน้ำที่มีแรงดันสูงจะหมุนกังหัน (Turbines) ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตไฟฟ้า

5) ไอน้ำที่ผ่านเครื่องกังหันแล้วยังคงมีความร้อนเหลืออยู่จะถูกนำไปผ่านเครื่องควบแน่นให้เปลี่ยนเป็นน้ำแล้วนำกลับไปใช้อีก น้ำหล่อเย็นที่รับความร้อนมาจากเครื่องควบแน่นจะไหลไปยังหอหล่อเย็นเพื่อระบายความร้อน น้ำหล่อเย็นที่ใช้แล้ว 5 รอบจะถูกปรับสภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรมก่อนนำไปรดต้นไม้ และปล่อยลงสู่บ่อระเหยขนาดใหญ่ในบริเวณโรงงานเพื่อให้น้ำระเหยตามธรรมชาติโดยไม่ปล่อยออกนอกโรงงาน

6) ไอร้อนและขี้เถ้าลอยจะถูกนำไปผ่าน เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตแรงสูง (ESP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ ทันสมัย มีประสิทธิภาพ อย่าง มากในการดักจับฝุ่น กล่าวคือ สามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มากกว่า 99.5 เปอร์เซ็นต์ บริษัท เอทีบี จะติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นชนิดนี้จำนวน 3 ชุด ทำงานพร้อมกันตลอดเวลา ถ้าเกิดการชำรุดไม่สามารถทำงานได้ โรงไฟฟ้าจะหยุดการป้อนผงแกลบ และเครื่องยนต์จะดับทันทีเพื่อซ่อมแซมแก้ไขป้องกันไม่ให้ฝุ่นรั่วไหล ก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ

7) ขี้เถ้าที่ถูกเก็บกักไว้ในเครื่องดักจะถูกลำเลียงบรรจุลงรถขนส่งขี้เถ้าหรือบรรจุถุงที่คุณภาพ แข็งแรงและปิดมิดชิดเพื่อนำส่งลูกค้า เช่น อุตสาหกรรมเกษตร ใช้เป็นวัสดุปรับคุณภาพดิน อุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งใช้เถ้าผสมจะทำให้ฐานถนนมีความแข็งแรงขึ้น ส่วนที่จำหน่ายไม่ได้จะส่งไปฝังกลบโดย บริษัทรับกำจัดวัสดุของเสียอย่างมิดชิดในหลุมที่ลาดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดี น้ำชะขี้เถ้าไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน

.

หลักการทำงานของโรงไฟฟ้า

.

รูปที่ 1 แสดงกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแกลบ

. 

รูปที่ 2 แสดงขั้นตอนการเผาแกลบและดักเถ้าแกลบ

.

เน้นความสัมพันธ์ทั้งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าพลังงานแกลบได้ให้ความสำคัญทั้งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment : EIA) ก่อนดำเนินการขออนุญาตก่อสร้าง ผู้จัดทำ คือ บริษัท คลีน เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งมีผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล การจัดทำ EIA ได้ศึกษา ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามข้อกำหนดของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยผลการศึกษาต้องประกอบด้วยมาตรการ ป้องกันในทุกด้าน เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนงานด้านชุมชนสัมพันธ์  ก็ตระหนักในความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนเข้าใจในความห่วงใยต่อปัญหามลภาวะ และความตื่นตัวของประชาชนในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในหลักการพัฒนาพลังงานทดแทน และร่วมสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการ รวมทั้งเป็นรากฐานที่สำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน อันจะเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย 

.

นอกจากนี้ยังมีการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโครงการและชุมชน โดยการพบปะเยี่ยมเยือนและสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรต่าง   ในชุมชน เช่น โรงเรียน วัด ฯลฯ ทั้งด้านการเงินและสิ่งของอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยมีสัญญาประชาคม ที่ทำกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหลักประกัน ซึ่งประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ด้วยกองทุนประกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแสดงความจริงใจในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม

.

.
บทสรุป

ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่เต็มไปด้วยตัวเลือกทางพลังงานอย่างมากมาย พลังงานชีวภาพประเภทนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยา แต่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีทางเลือกทางพลังงานไม่มากนัก ทางเลือกเหล่านี้เป็นการตอบสนองความต้องการพลังงานได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ทำให้ความต้องการพลังงานทางเลือกมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยศักยภาพของการผลิตชีวมวลในประเทศ มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องมาจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ที่ก่อให้เกิดชีวมวล มีแนวโน้มจะผลิตได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะปัจจัยสำคัญหลายประการ เช่น การเพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูก และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร เป็นต้น

.

ดังนั้น การเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน ที่ได้แก่ แสงอาทิตย์ น้ำ ลม ไม้ ฟืน แกลบ กาก(ชาน)อ้อย ชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้ไม่หมด มีแหล่งพลังงานอยู่ภายในประเทศ และมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมน้อย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐต้องเร่ง ให้ความสำคัญ ในการพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเชื่อมั่น กับการใช้พลังงาน จากแหล่งภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยง ต่อการพึ่งพาพลังงานเชิงพาณิชย์ เพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคต เราจะมีพลังงานใช้กันอย่างพอเพียง แนวทางในการพัฒนาพลังงานของประเทศ จึงต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรพลังงาน ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีการใช้ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องพิจารณา เลือกใช้เชื้อเพลิง ที่มีราคาถูก ที่มีปริมาณ ที่เพียงพอและแน่นอน มีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง หลายชนิด เพื่อกระจายความเสี่ยง และต้องเป็นเชื้อเพลิง ที่มีผลกระทบ ต่อสภาวะแวดล้อมน้อยอีกด้วย

.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

คุณณฐิกานต์ และคุณพนินทรา บริษัท โพลีพลัส พีอาร์ จำกัด โทร.0-2572-4444 ต่อ 345