เนื้อหาวันที่ : 2010-11-26 12:03:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2138 views

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับแนวโน้มค่าจ้างของไทย

ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงโอกาสทางการศึกษา แล้วส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อไปเป็นวงกว้าง


มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมทั้งความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพและมูลเหตุของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าว โดยเน้นเฉพาะผลกระทบในตลาดแรงงาน การศึกษานี้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก


ส่วนแรกเป็นการศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย และศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกเข้ารับการศึกษาระดับต่างๆ เพื่อนำมาสังเคราะห์หาสาเหตุและนำเสนอนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในอนาคต การศึกษาในส่วนที่สองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับค่าจ้างในประเทศไทยและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของช่องว่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานกลุ่มที่จบการศึกษาระดับต่างๆ ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา


การศึกษาในส่วนแรกพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ระดับการศึกษาของพ่อแม่มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการศึกษาของลูก กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้ว แรงงานในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงมักจะได้รับการศึกษาสูงกว่าแรงงานในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาต่ำกว่า


ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาคือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัยและรายได้ของครัวเรือน อย่างไรก็ดีความสำคัญของถิ่นที่อยู่อาศัยได้ลดน้อยลงตามกาลเวลา โดยในปี 2531 เด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาต่ำกว่าเด็กที่อยู่อาศัยในเมืองมาก


แต่ในสองทศวรรษถัดมากลับพบว่าโอกาสในการศึกษาของเด็กในชนบทแทบจะไม่ได้แตกต่างจากเด็กในเมืองเลย การเพิ่มขึ้นของโอกาสทางการศึกษาของเด็กในชนบทดังกล่าวส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐในการสนับสนุนให้มีโรงเรียนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ของประเทศไทย


ในส่วนของรายได้ของครัวเรือน การศึกษานี้พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมักได้รับการศึกษาสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำกว่า โดยครัวเรือนของนักเรียนที่ศึกษาระดับปริญญามีรายได้ต่อหัวของครัวเรือนสูงกว่าครัวเรือนของนักเรียนที่มีการศึกษาสูงสุดคือระดับมัธยมประมาณสองเท่า


โดยทั่วไปแล้ว เด็กจากครอบครัวที่มีความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ได้เปรียบกว่า เด็กเหล่านี้ไม่เพียงเสียเปรียบทางด้านการศึกษาแต่ยังเสียเปรียบในเรื่องค่าจ้างที่จะได้รับในอนาคตเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย ผลการศึกษาในส่วนหลังสนับสนุนความคิดข้างต้น


โดยพบว่า สัดส่วนของอุปสงค์ของแรงงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ออุปสงค์ของแรงงานที่จบมัธยม (อุปสงค์โดยเปรียบเทียบ) ได้มีแนวโน้มเพื่มขึ้นเรื่อยๆในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา


การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในภาคการผลิตและบริการของไทยในลักษณะที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาเพิ่มขึ้นมากกว่าประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่า (skill-biased technological change)


งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาอาจนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้จากค่าจ้างที่แรงงานได้รับในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยเสนอนโยบายด้านการศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ นโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษา และนโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน


นโยบายกลุ่มแรกได้แก่ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างโรงเรียนที่มีทรัพยากรมากกับโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย เพื่อทำให้นักเรียนมีพื้นฐานของระดับความรู้ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น และสามารถสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก


สุดท้าย รัฐบาลควรทบทวนความเหมาะสมของการอุดหนุนค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย (tuition fee subsidy) ซึ่งเป็นการให้แบบถ้วนหน้า เราได้เห็นแล้วว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่านักเรียนกลุ่มอื่นมาก


ในส่วนของนโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน รัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการในตลาดแรงงานให้แก่แรงงานที่มีการศึกษาต่ำ เพื่อให้แรงงานดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้งานที่ดีกว่า เลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น


ที่มา : ทีดีอาร์ไอ