เนื้อหาวันที่ : 2010-11-26 09:05:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 638 views

กรมส่งออกฯเร่งเยียวยาเอสเอ็มอี เตือนผู้ส่งออกรับมือบาทแข็งปีหน้า

          กรมส่งออกฯเร่งเยียวยาเอสเอ็มอี เตือนผู้ส่งออก-ภาครัฐรับมือความเสี่ยงบาทแข็งค่าปีหน้า “ธนวรรธน์”เผยปีหน้าผู้ประกอบการเหนื่อย ส่งออกโต 8% ชี้ต้องบริหารต้นทุน-คุณภาพสินค้า


          นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวในงานเสวนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเอสเอ็มอีไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก หัวข้อ “ค้นทางเลือก หาทางรอดกลางวิกฤติธรรมชาติยุคบาทแข็ง”ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้พยายามหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี


         โดยเจาะลึกเป็นรายสินค้า และทำความเข้าใจถึงสภาพของแต่ละตลาด เพื่อนำมาประยุกต์การเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพดีและได้รับผลกระทบน้อย รวมถึงเพื่อเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมกับเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ให้กับผู้ประกอบเอสเอ็มอีเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามยังมั่นใจว่า แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่การส่งออกปีหน้าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10 % หรือมูลค่าเกินกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


          นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปีหน้าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวน้อยลง และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตเพียงแค่  4 % จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.5 -5 % ขณะที่เงินบาทอาจจะแข็งค่าถึง 26-27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพียง 8 % จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 10 – 13 % 


          “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหามาตรการแทรกแซงการเก็งกำไร และใช้มาตรการทางภาษี รวมทั้งผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยไปลงทุนในประเทศต่างๆ ให้มากขึ้นกว่านี้ ผู้ประกอบต้องดูแลต้นทุนและคุณภาพสินค้าให้ดีอยู่ตลอดเวลา” นายธนวรรธน์ กล่าวและว่า


          "ปีหน้าเม็ดเงินจะไม่ได้มาจากภาคส่งออกเป็นหลัก แต่จากสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น จะทำให้เม็ดเงินมาจากการท่องเที่ยว และกำลังซื้อในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงดูแลผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเห็นผลชัดเจน"



          สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องมีการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างใกล้ชิด โดยผู้บริหารต้องหันมาใช้เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสาร ทำความเข้าใจกับตลาดที่กำลังจะขยายตัวไปเป็นตลาดระดับภูมิภาค ดูแลต้นทุนการผลิตอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเปรียบเทียบต้นทุนกับคู่แข่งด้วย ว่ายังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้หรือไม่



          สำหรับผลการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE2 )ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มาใช้ และรวมทั้งปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศยุโรป และความเสี่ยงของไอซ์แลนด์ที่อาจจะเริ่มก่อตัว จะเห็นผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกชัดเจนในไตรมาสที่ 1 ปี 2554

           
          นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยา และกรรมการผู้บริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (เอสเอ็มไอ) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือในขณะนี้ ได้แก่ การสร้างเครือข่ายร่วมกัน การพัฒนาด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำเงินมาปรับปรุงเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเข้าถึงตลาด และต้องการให้มีการเพิ่มทักษะแรงงานให้มากขึ้น


          “ตลอดจนรัฐบางต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเติบโตได้ตามบริษัทขนาดใหญ่ แต่ทำธุรกิจเพียงลำพัง รวมทั้งปรับโครงสร้างทางภาษีที่เอื้อต่อการทำธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอี”


          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวณิช กรรมการและประธานกรรมการ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ปีหน้าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การส่งออกปีหน้าขยายตัวน้อยลง ผู้ส่งออกจึงควรรับมือด้วยการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน และควรใช้เงินสกุลอื่นแทนดอลลาร์ เช่น หากซื้อขายกับจีนก็ควรใช้เงินหยวน เป็นต้น


          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินบาท ผู้ส่งออกคงจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะลูกค้าไม่ยอมรับการปรับขึ้นราคา