เนื้อหาวันที่ : 2010-11-25 11:27:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2511 views

ลดความเหลี่อมล้ำสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ

ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของประชาชน การกักตุนที่ดิน การเก็งกำไรที่ดิน การไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือการบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศไทย แต่น่าเสียที่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพิจารณาหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง


ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของประชาชน การกักตุนที่ดิน การเก็งกำไรที่ดิน การไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือการบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพิจารณาอย่างถ่องแท้เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่ต้นตอปัญหาอย่างแท้จริง หลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยกลับวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวอย่างผิวเผินและใช้วิธีการแก้ปัญหาการไร้ที่ดินด้วยมาตรการนำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาจัดให้ประชาชน
         
ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในกรณีที่ดินเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นทางเศรษฐกิจหลายประการ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การกระจุกตัวของกำไรเกินปกติจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดการแข่งขัน การจับจองที่ดินเพื่อหวังผลประโยชน์จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือการดำเนินมาตรการภาษีที่ดินที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ ภาษีเงินได้จากการขายที่ดิน หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ


การที่ประชาชนจำนวนมากหรือเกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เป็นเพราะโครงสร้างการถือครองที่ดินของประเทศไทยนั้นถูกทำให้บิดเบือนด้วยโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทย หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของคนไทยพบว่า การกระจายรายได้ของคนไทยเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินธุรกรรมที่ขาดการแข่งขันทำให้มีการกระจุกตัวของกำไรหรือรายได้ในธุรกิจบางประเภท


จากการที่โครงสร้างรายได้มีการกระจุกตัวในกลุ่มคนจำนวนน้อยจึงมีผลทำให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจซื้อสูงและนำเงินเหล่านี้มาใช้ในการกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรอย่างมากมาย ปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 90 ของคนไทยมีที่ดินถือครองไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่คนกลุ่มที่เหลืออีกร้อยละ 10 ถือครองที่ดินคนละมากกว่า 100 ไร่ รายงานนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินในมือคนกลุ่มน้อยเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ของคนไทยนั้นเอง
         
การที่รัฐบาลละเลยการแก้ปัญหาธุรกิจผูกขาดและไม่บังคับใช้กฏหมายการแข่งขันทางการค้าทำให้รายได้กระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจเพียงน้อยรายนั้นได้นำไปสู่ปัญหาการกว้านซื้อที่ดินเป็นอย่างมาก ซึ่งการกว้านซื้อที่ดินในลักษณะนี้ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้เพราะเหตุผลสองประการด้วยกันคือ


หนึ่ง การกว้านซื้อที่ดินทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นจนเกษตรกรไม่สามารถซื้อหาที่ดินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรได้ และ สอง การที่ที่ดินมีราคาสูงขึ้นทำให้เกษตรกรที่ถือครองที่ดินอยู่ต้องเผชิญกับค่าเสียโอกาสของที่ดินที่มีมูลค่าสูงและทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องขายที่ดินที่มีอยู่และเก็บทรัพย์สินในรูปเงินหรือในรูปอื่นแทนเพราะไม่สามารถถือครองที่ดินที่มีมูลค่าสูงได้
         
ปัญหาการการกระจุกตัวของรายได้ส่งผลลุกลามมายังปัญหาการถือครองที่ดินที่มีลักษณะกระจุกตัวเช่นเดียวกัน จนทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญสามประการ ได้แก่
         
หนึ่ง กลุ่มธุรกิจการเมืองสามารถใช้เงินเพื่อเอื้อประโยชน์ด้านข่าวสารข้อมูลจากภาครัฐและนำไปสู่การเก็งกำไรในที่ดินรอบๆ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ (เช่น โครงการรถไฟฟ้า หรือโครงการสร้างถนน เป็นต้น) เมื่อมีการกว้านซื้อที่ดินรอบๆ โครงการพัฒนาของรัฐทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องสูญเสียที่ดินในจำนวนมาก แต่ที่สำคัญคือประโยชน์ที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐเหล่านี้จะตกกับผู้เก็งกำไรในที่ดินมากกว่าเจ้าของที่ดินเดิมที่ขายที่ดินออกไป
         
สอง การใช้เงินเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นสองมาตรฐานระหว่างคนรวยและคนจน นำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้และถูกจัดให้เป็น “ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ” อยู่ตลอดเวลา


กรณีที่เป็นที่ประจักษ์ได้แก่การใช้เอกสารสิทธิ์ สค. เพื่อนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์ในปริมาณที่มากกว่าจำนวนที่ระบุไว้ใน สค. การใช้เอกสารสิทธิ์ สค. ซ้ำ หรือการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงอื่นต่างจากที่ สค. ระบุไว้ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างอื่นที่แสดงให้เห็นถืงการถือครองที่ดินโดยผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ไม่ควรมีการออกเอกสารสิทธิ์ เช่น การถือครองที่ดินบนเกาะหรือพื้นที่สูงชัน เป็นต้น
         
สาม การไม่ดำเนินมาตรการภาษี capital gain และเลี่ยงไปดำเนินมาตรการภาษีที่ดินที่เรียกเก็บจากฐานมูลค่าที่ดินเพราะเกรงว่าภาษี capital gain ที่เก็บจากกำไรส่วนเกินจากการซื้อขายที่ดินจะไปกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมืองจากการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร
         
การศึกษานี้เสนอว่าเพื่อให้เกิดการใช้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้นรัฐบาลควรดำเนินมาตรการที่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอดังต่อไปนี้ หนึ่ง ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของรายได้และให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดกำลังซื้อที่ดินจากการกระจุกตัวของรายได้ สอง เร่งตรากฎหมายภาษี capital gain หรือภาษีมูลค่าเพิ่มจากการถือครองที่ดิน


โดยภาษี capital gain นี้จะทำหน้าที่ถ่ายโอนกำไรส่วนเกินจากการเก็งกำไรในที่ดินมาสู่ภาครัฐมากขึ้น และช่วยลดการเก็งกำไรในที่สุด มาตรการภาษี capital gain นี้จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และช่วยลดขนาดของการสร้างหนี้สาธารณะด้วย และ สาม สร้างหลักธรรมาภิบาลในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดปัญหาการเลือกปฎิบัติ หรือปัญหาสองมาตรฐานระหว่างนายทุนและประชาชนผู้มีรายได้น้อย
         
การศึกษานี้เสนอว่า การนำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาจัดรูปเพื่อแจกที่ดินทำกินให้ผู้ด้อยโอกาสไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินที่ถูกต้อง เพราะการแจกที่ดินไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอของสาเหตุอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงใช้ทรัพยากรของชาติเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น

 


 


หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 เรื่อง“การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ (Reducing Inequality and Creating Economic Opportunity)”


ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกันจัดขึ้น ในวันจันทร์และวันอังคารที่ 29-30 พฤศจิกายน 2553 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์