เนื้อหาวันที่ : 2010-11-23 11:15:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3236 views

ข้าวโพดหวานแปรรูปไทย อนาคตไกลในตลาดโลก

สถาบันอาหาร ชี้ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยมีศักยภาพสูง เป็นสินค้าดาวเด่นในตลาดโลก หลังประเทศคู่แข่งเบนเข็มปลูกพืชพลังงานทดแทน


สถาบันอาหาร ชี้ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยมีศักยภาพสูง เป็นสินค้าดาวเด่นในตลาดโลก หลังประเทศคู่แข่งเบนเข็มปลูกพืชพลังงานทดแทน


สถาบันอาหาร ชี้ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยมีศักยภาพสูง เป็นสินค้าดาวเด่นในตลาดโลก ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปติดอันดับ 3 ของโลกรองจากฝรั่งเศสและฮังการี มีตลาดหลักอยู่ที่สหภาพยุโรป รองลงไปคือ ญี่ปุ่น รัสเซีย และอาเซียน


คาด ปีนี้ การส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนส่งผลต่อปริมาณการผลิต รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น โดย 9เดือนแรกไทยส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปจำนวน 128.6 พันตัน มูลค่า 3,834 ล้านบาท


 
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชียอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าการค้าในตลาดโลกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7-8 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


ประกอบกับการที่ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานทดแทน จึงเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยให้เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด โดยปริมาณผลผลิตข้าวโพดหวานของไทยร้อยละ 80-90 จะถูกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศใน 2 ลักษณะ คือ ข้าวโพดหวานแช่เย็นแช่แข็ง และข้าวโพดหวานปรุ่งแต่ง/แปรรูป


“ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกและผลิตข้าวโพดหวานรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ปัจจุบันไทยส่งออกข้าวโพดหวานแช่เย็นแช่แข็ง ไม่สูงนักราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีหรือร้อยละ 5 ของมูลค่าข้าวโพดหวานแปรรูป โดยตลาดส่งออกเกือบร้อยละ 80 กระจุกตัวอยู่ที่ญี่ปุ่น


ขณะที่การส่งออก ข้าวโพดหวานแปรรูปหรือข้าวโพดหวานกระป๋อง มีสัดส่วนที่สูงกว่า และมีแนวโน้มเติบโตสูงเฉลี่ยร้อยละ 18-19 ต่อปีในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา แม้ในปี 2552 ที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดปัญหา ปริมาณและมูลค่าการส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตร้อยละ 4.9


และร้อยละ 1.3 อยู่ที่ 160.9 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 149.3 ล้านเหรียญสหรัฐเปรียบเทียบกับการค้าในตลาดโลกที่ปริมาณและมูลค่าหดตัวร้อยละ 9.9 และร้อยละ 10.5 ตามลำดับ ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปอันดับ 3 ของโลก รองจากฝรั่งเศสและฮังการี โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหภาพยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน รองลงไปคือญี่ปุ่น รัสเซีย และอาเซียน” ดร.อมร กล่าว


ในปี 2553 คาดว่าการส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยจะเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน และเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้อยู่ในเขตอุทกภัย จึงส่งผลต่อปริมาณการผลิต รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคให้เติบโตสูงขึ้น


โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ไทยได้ส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูป 128.6 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 3,834 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเติบโตร้อยละ 10.5 และร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงเกือบร้อยละ 20 เปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน ที่อยู่ในระดับร้อยละ 13 แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยมีบทบาทและศักยภาพการแข่งขันสูงในตลาดโลก


รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า แม้ว่าศักยภาพอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่การจะก้าวเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปของโลกนั้นยังมีปัจจัยหลายประการทั้งด้านการผลิตและการตลาดที่ควรระมัดระวัง


อาทิ ความผันผวนของปริมาณและราคาวัตถุดิบ, การผูกขาดด้านราคาจำหน่าย ปัญหาด้านค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2551 ทำให้รายได้ที่ผู้ส่งออกได้รับเป็นสกุลเงินบาทน้อยลง, โครงสร้างตลาดส่งออก และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ซึ่งในอนาคตการส่งออกจะพบกับอุปสรรคจากมาตรการ NTBs มากขึ้นจากประเทศผู้นำเข้า


ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตและการส่งออกให้เติบโตและ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนนั้น อยู่ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ โรงงานผลิตและแปรรูปภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกร ต้องร่วมมือกันพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและสร้างจุดขายตามกระแสนิยม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยให้ได้ตามมาตรฐานสากลโดยเฉพาะผู้ผลิตในกลุ่ม SMEs


ในขณะที่ด้านการตลาดก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กันด้วยทั้งในเรื่องการขยายตลาดส่งออกใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัว โดยเฉพาะตลาดแถบเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งผู้ผลิตไทยจะได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง หรือตลาดรัสเซีย


ตลาดในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและความต้องการบริโภคในระยะหลังขยายตัวดี เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี คูเวต ในส่วนของภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ผลิตตามยุทธศาสตร์สร้างการรับรู้และยกระดับภาพลักษณ์ให้กับข้าวโพดหวานแปรรูปด้วยการจัดงาประชาสัมพันธ์ หรืองานแสดงสินค้าในตลาดกลุ่มใหม่ๆ หรือตลาดที่มีแนวโน้มดีอย่างตลาดรัสเซีย ตะวันออกกลาง


เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งด้านคุณภาพสินค้าและมาตรฐานการผลิต วางแนวทางการแก้ปัญหาข้อกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนงานวิจัยด้านตลาดเพื่อศึกษาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค และวางนโยบายการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก