เนื้อหาวันที่ : 2010-11-23 10:55:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1523 views

ไอซีทีดึง 6 เอกชนสนองนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

จุติ รมว.ไอซีทีเดินหน้านโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ดึง 6 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมลงนามใช้โครงสร้างพื้นฐาน - โครงข่ายร่วมกัน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


จุติ รมว.ไอซีทีเดินหน้านโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ดึง 6 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมลงนามใช้โครงสร้างพื้นฐาน - โครงข่ายร่วมกัน


นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาบริการบรอดแบนด์


เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสามารถกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านโทรคมนาคมของประเทศอย่างยั่งยืน


ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติขึ้นมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหลากหลาย มีความก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับบริบทและสภาพพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งตอบสนองความต้องการการใช้บริการของทุกภาคส่วน


โดยที่รัฐมีบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบายและสนับสนุนให้มีการใช้บริการบรอดแบนด์อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ร่วมดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ โดยมีองค์กรอิสระตามกฎหมายทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม


“การส่งเสริมให้มีการแข่งขันการให้บริการบรอดแบนด์บนพื้นฐานการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม โดยให้มีการเข้าถึงตลาดแบบเปิดและเปิดกว้างทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้น ถือเป็นความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต่างตระหนักถึง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงข่ายและการขยายการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม


ดังนั้น กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมกับ 6 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งมีความสามารถและความแข็งแกร่งในการให้บริการโทรคมนาคมแต่ละประเภทจัดทำบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนซึ่งกันและกันดำเนินกิจการเพื่อสนับสนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติขึ้น” นายจุติ กล่าว


สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บจ.ทรู มูฟ และ บจ.ดิจิตอล โฟน โดยทุกฝ่ายจะประสานความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายให้มีความแข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งขึ้น


ตลอดจนการแสวงหาแนวทางร่วมกันเพื่อช่วยผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้มีบริการบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงและครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งแพร่หลายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างรวดเร็ว โดยทุกฝ่ายตกลงจะสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทย


“การลงนามในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันเพื่อแสวงหาและกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคมที่จะนำมาใช้ร่วมกัน รวมถึงจะกำหนดแนวทางและวิธีการในการบริหารจัดการ การกำหนดค่าใช้โครงข่าย และหรือส่วนแบ่งค่าใช้โครงข่าย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


ทั้งนี้ การลงนามเพื่อใช้งานร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวจะเป็นเพียงกรอบความเข้าใจร่วมกันเท่านั้น ส่วนการดำเนินการในแต่ละกิจกรรม ทางบริษัทจะไปเจรจาร่วมกันเพื่อทำความตกลงระหว่างกันอีกครั้ง


ส่วนการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ แต่ละบริษัทจะส่งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงานในคณะทำงานร่วมสนับสนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่มีผู้แทนของกระทรวงไอซีทีเป็นประธาน และคณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่ประสานการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคมที่จะนำมาใช้ร่วมกัน


รวมถึงร่วมกำหนดแนวทางและวิธีการในการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการให้กับภาคเอกชน และส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากอัตราค่าบริการที่ถูกลงด้วย” นายจุติ กล่าว