เนื้อหาวันที่ : 2010-11-22 17:29:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1178 views

ชัยวุฒิเถกต่างชาติเร่งระดมกึ่นกระตุ้นบรรยากาศการลงทุน

ชัยวุฒินำทีมบีโอไอ หารือหอการค้าต่างประเทศในไทย แจงยิบมาตรการกระตุ้นการลงทุน พร้อมเร่งระดมกึ่นกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในไทย

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

ชัยวุฒินำทีมบีโอไอ หารือหอการค้าต่างประเทศในไทย แจงยิบมาตรการกระตุ้นการลงทุน พร้อมเร่งระดมกึ่นกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในไทย

.

ชัยวุฒิ นำทีมบีโอไอ ร่วมถกหอการค้าต่างประเทศในไทย ย้ำศักยภาพเอกชนเป็นผู้นำเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เร่งระดมความคิดเห็นกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในไทย ก่อนเสนอนายก มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเดินหน้าแจงทิศทางการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมเพื่อเอื้ออำนวยการลงทุนจากต่างประเทศ ตอกย้ำการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในภูมิภาค 

.

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand : JFCCT) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้ภาครัฐได้ยืนยันถึงการให้ความสำคัญและสนับสนุนนโยบายเพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำเศรษฐกิจอย่างแท้จริง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลก และในระดับภูมิภาคให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

.

โดยได้ใช้โอกาสนี้ ชี้แจงถึงการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุน อาทิ การเร่งแก้ปัญหามาบตาพุด จนปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจน และเป็นแนวทางสำหรับการสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด และพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆในอนาคต 

.

การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมกิจการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ซึ่งได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยได้อย่างครบวงจร นักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการขยายการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ในอนาคต เป็นต้น 

.

นอกจากนี้ยังจะเร่งดูแลในช่วงที่สถานการณ์ค่าเงินบาท และผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 นี้ บีโอไอจะเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวรวมถึงการพิจารณาสิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ปรับปรุงใหม่เพิ่มเติม

.

“ที่ผ่านมา รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการเร่งสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะยังต้องมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมมาตรการในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นการร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของสมาชิกหอการค้าต่างประเทศครั้งนี้ จะเป็นกระจกสะท้อนให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนอย่างแท้จริงต่อไป” นายชัยวุฒิกล่าว 

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การจัดประชุมหารือในครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นและรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการลงทุน และการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยบีโอไอจะได้รวบรวมประเด็นหลักที่ได้จากการหารือ นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างประเทศต่อไป 

.

สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือ บีโอไอ ได้ใช้โอกาสนี้ ชี้แจงถึงการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน อาทิ ลดระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติเข้าทำงานของคนต่างชาติจาก 40 วันทำการ เหลือ 5-20 วันทำการ การเปิดส่งเสริมกิจการ Data Center เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ได้มาตรฐานระดับสูง 

.

สำหรับประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติกังวล เป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราและการออกใบอนุญาตทำงาน การเตรียมพร้อมสำหรับรองรับการเปิดเสรีการค้า รวมถึงความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสม เป็นต้น 

.
นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการจากต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน(FDI) มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2553) ที่ผ่านมา มีจำนวนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 691 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 174,884 ล้านบาท          
.

โดยจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มี 547 โครงการ สำหรับเงินลงทุน เพิ่มขึ้น 11.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าลงทุน 157,401 ล้านบาท

.

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่น ยังเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ มี 284 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 71,342.4 ล้านบาท รองมาเป็น สเปน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 22,007.5 ล้านบาท จีน 23 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 9,681 ล้านบาท และสิงคโปร์ 52 โครงการ เงินลงทุน 9,483.9 ล้านบาท