เนื้อหาวันที่ : 2010-11-17 16:42:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1505 views

"ชัยวุฒิ" ปลื้ม อุตฯ โตตามเป้า มั่นใจปี 54 ขยายตัวต่อเนื่อง

อุตฯ 53 จบสวย ขยายตัวร้อยละ 15-16 ตามเป้า รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น มั่นใจฐานการผลิตปึ๊ก รองรับออเดอร์ทั่วโลก

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

อุตฯ 53 จบสวย ขยายตัวร้อยละ 15-16 ตามเป้า รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น มั่นใจฐานการผลิตปึ๊ก รองรับออเดอร์ทั่วโลก ชี้ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า หัวหอกหลัก ฟันยอดส่งออก 105,816 ล้านเหรียญ คาดปี 54 โตต่อเนื่อง

.

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2553 ถือเป็นปีที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยขยายตัวได้เป็นอย่างดี แม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาวะทิศทางการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ รวมทั้งค่าเงินบาท 

.

แต่ยังสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวในช่วงร้อยละ 12-13 ขณะที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวในช่วงร้อยละ 15.0 – 16.0 และอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 63-64 ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดใหม่ 

.

ส่งผลให้การส่งออกของไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้เป็นอย่างดี แม้จะชะลอลงบ้างในช่วงไตรมาสที่สามและสี่ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมล่าสุด 9 เดือน มีมูลค่าส่งออก(ไม่รวมทองคำ)สูงถึง 105,816 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 34.1 สินค้าสำคัญที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้แก่ ยานยนต์ เครื่องอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 68.4 ,28.3 และ 37.4 ตามลำดับ 

.

นายชัยวุฒิ เปิดเผยอีกว่า ทิศทางของภาคอุตสาหกรรมไทย ในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 ขณะที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 6.0 -8.0 เป็นการปรับฐานทางเทคนิค เนื่องจากปี 2553 มีตัวเลขฐานค่อนข้างสูง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ร้อยละ 64.0-66.0

.

นอกจากนี้ ปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลต่อการขยายตัว เช่น มาตรการอัดฉีดจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังจะหมดลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทหากยังมีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2553 ต่อเนื่องปี 2554 เนื่องจากคำสั่งซื้อเดิมได้หมดลง และผลประกอบการที่ลดลงจากรายได้ในรูปเงินบาทจะเป็นแรงกดดันให้ต้องมีการปรับตัวในด้านต้นทุนและราคา ซึ่งอาจจะกระทบต่อการผลิตและการจำหน่ายในช่วงต่อๆ ไป    

.

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอุตสาหกรรมของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันภายในประเทศ แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบางมาตรการหมดสิ้นสุดลง แต่ภาครัฐก็ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นชุดใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2554 ขยายตัวได้เป็นอย่างดี

.
อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต ปี 2553 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.3 เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ คือ ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป มีความต้องการของต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เนื่องจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีความต้องการเนื้อไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น          

.

นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มประมง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ได้รับผลดีจากการยกเลิก AD และการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ประกอบกับประเทศคู่แข่งประสบปัญหาโรคระบาด ทำให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการตัดสิทธิ์ GSP กุ้งแปรรูปจากไทยไปสหรัฐฯ ก็ตาม 

.

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.3 โดยเป็นผลจากระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรสำคัญๆ หลายประเภทของโลกมีปริมาณลดลงจากภาวะภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่          

.

อาจมีปัจจัยลบที่กระทบต่อการขยายตัว คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคที่เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า เช่น จีน เวียดนาม รวมถึงการปรับตัวในด้านความปลอดภัยของอาหารของทั้งสองประเทศที่ดีขึ้น อาจส่งผลต่อการส่งออกอาหารของไทยได้

.

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตในปี 2553 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0, 5.4 และ 12.3 ตามลำดับ เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่อง 

.

และมีปัจจัยบวกจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน ทำให้มีการส่งออกไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว 

.

แนวโน้มปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตที่ลดลงกว่าร้อยละ 5 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเงินบาทแข็งค่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติจากภัยน้ำท่วม และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่น                    

.

ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวและขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ การส่งออกต้องเผชิญปัญหาจากผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบจากการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้ายที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมดได้มีการปรับราคาขึ้นร้อยละ 30-40 เพราะผลผลิตในประเทศผู้ผลิต เช่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน แอฟริกา และอิหร่านลดลงจากภัยธรรมชาติ 

.

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในปี 2553 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวเป็นไปตามทิศทางของธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คือ มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น 

.

แนวโน้มของอุตสาหกรรมปี 2554 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญยังคงเป็น การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีในช่วงที่เหลือของ ปี 2553 ต่อเนื่อง ปี 2554 ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นฟู ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายจากปัญหาน้ำท่วม

.

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2553 เมื่อเทียบกับปีก่อน ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 22.46 โดยเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จากการผลิตเพื่อการส่งออก         

.

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการของตลาดอียู และตลาดใหม่ เช่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้นและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น 

.

แนวโน้มปี 2554 การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.88 ทั้งนี้ประเด็นที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักในการจำหน่ายสินค้าส่งออก

.

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ ในปี 2553 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.6 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 60.10 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน ขยายตัวร้อยละ 27.53 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 900,000 คัน ขยายตัวร้อยละ 68.05 สำหรับการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้น        

.

เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลก สำหรับตลาดในประเทศ ได้รับผลดีจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี และบางรุ่นยังคงมียอดค้างส่งมอบ   

.

ในขณะที่ตลาดส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวในทุกตลาดส่งออก (เอเชีย, โอเชียเนีย, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ยุโรป, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้) นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากการยกเว้นอากรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน อย่างไรก็ดี การปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานที่ค่อนข้างต่ำใน ปี 2552 

.

แนวโน้มปี 2554 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.8 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 12.50 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน ขยายตัวร้อยละ 14.29 และผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 11.11 สำหรับการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้น

.

เนื่องจากคาดว่าสภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดภายในประเทศ คาดว่าจะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่ตลาดส่งออก คาดว่ายังสามารถส่งออกรถยนต์ไปในตลาดหลัก เช่น เอเชีย และโอเชียเนีย เป็นต้น ได้อย่างต่อเนื่อง