เนื้อหาวันที่ : 2010-11-17 14:20:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1301 views

การจ้างงานในสหรัฐฯ ฟื้นหรือฟุบ?

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคการบริโภคภายในประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักผ่านช่องทางการค้า การท่องเที่ยว การลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม

บทวิเคราะห์เรื่อง การจ้างงานในสหรัฐฯ ฟื้นหรือฟุบ? 1

.
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
.

.

- ความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกในปัจจุบัน ทำให้การติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการประเมินและวางแผนนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย

.

- บทความนี้ ได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการจ้างงานในสหรัฐฯ และพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคการบริโภคภายในประเทศนั้น จะยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันมิได้ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและลดระดับการว่างงานที่มากเพียงพอ          

.

นอกจากนี้ แม้ว่าภาคธุรกิจจะสามารถทำกำไรได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ภาคธุรกิจยังคงมีแนวโน้มที่จะชะลอการจ้างงานและการลงทุนออกไปอีกระยะหนึ่ง

.

- การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าสินค้า การท่องเที่ยว การลงทุนทางตรงและการลงทุนทางอ้อม โดย สศค. คาดว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงร้อยละ 1 ต่อปี จะทำให้เศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ 0.1 ต่อปี ซึ่งนำมาสู่การนำเสนอนัยเชิงนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้

.

1. สนับสนุนนโยบายเพื่อการกระจายตลาดส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย จากเดิมที่พึ่งพาตลาดในสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ไปยังตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดียและจีน และตลาดในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

.

2. สนับสนุนให้เกิดอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน เพื่อลดการพึ่งพาภาคการส่งออกในการเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภาครัฐฯ ควรเร่งการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจ้างงาน การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน

.

3. สนับสนุนนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ เช่น จีนและประเทศในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นการบรรเทาผลกระทบจากมูลค่าการลงทุนที่ลดลงจากประเทศสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น

.

4. ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทมิให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศมากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น

.
1. บทนำ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยการส่งออกสินค้าของไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.6 ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น การติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด จึงเป็นส่วนสำคัญของการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทย

.

ทั้งนี้ การบริโภคภายในประเทศของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการจ้างงานเป็นหัวใจสำคัญต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกตามลำดับ แตห่ ลายฝ่ายยังคำนึงถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวดังกล่าว เนื่องจากอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ

.

บทความนี้ จะวิเคราะห์ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในรายละเอียด เพื่อที่จะหาคำตอบว่าภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นอย่างไร และจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดปัญหาชะงักงันทางเศรษฐกิจหรือไม่

.

2. สถานการณ์การจ้างงานในสหรัฐฯ

ผู้ว่างงานของสหรัฐฯ ณ เดือน ส.ค. 53 ( เกือบ 2 ปีให้หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ) มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 14 ล้านคน2 หรือคิดเป็นร้อยละ 9.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่ระดับร้อยละ 6.6ของกำลังแรงงาน ณ เดือน ต.ค. 51 และเมื่อพิจารณาประเภทของผู้ว่างงานพบว่านับจากวิกฤติเศรษฐกิจ (ต.ค. 51)

.

ผู้ว่างงานในสหรัฐฯ เป็นผู้ว่างงานจากตำแหน่งงานประจำ (Full-time employment)เป็นสำคัญ (ภาพที่ 1) ผู้ว่างงานที่ยังคงมีจำนวนมากทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีการบริโภคภาคอกชนเป็นองค์ประกอบสำคัญอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้

.
ภาพที่ 1: การว่างงานในสหรัฐฯ

ที่มา Bureau of Labor Statistics และ CEIC
.

อย่างไรก็ตาม กำลังการใช้จ่ายของผู้ที่มีงานทำในระบบแรงงานพบว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงวิกฤตมากนัก โดยเห็นได้จากตัวเลขชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์และรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ที่สำรวจโดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ พบว่านับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา จำนวนชั่วโมงทำงานในภาคเอกชนไม่ได้ลดลงมากนัก

.

โดยในเดือน ส.ค.53 จำนวนชั่วโมงทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 34.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลงเพียง 0.2 ชั่วโมงจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 51) ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ในเดือน ส.ค. 53 อยู่ที่ 774.97 ดอลลาร์สหรัฐ มากว่าจากช่วงก่อนวิกฤต 23.67 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.2

.

การที่จำนวนชั่วโมงการทำงานและรายได้ต่อสัปดาห์ที่ไม่ได้ลดลงนี้ สะท้อนการลดการจ้างงานของผู้ประกอบการและการเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้แก่พนักงานที่ยังอยู่ในระบบเพื่อลดต้นทุนและรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้กำไรของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

โดยอ้างอิงจากคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่คาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทในสหรัฐฯ จะมีกำไรหลังหักภาษี (After-tax profit) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 3.9 ต่อไตรมาสหรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27

.

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal พบว่า แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทเอกชนจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 27 ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะจ้างลูกจ้างเพิ่มเติมหรือใช้จ่ายเพื่อลงทุนในอุปกรณ์เพิ่มเติม อย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า3 มุมมองของผู้ประกอบการดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณต่อภาครัฐฯ ในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

.

3. การจ้างงานในสหรัฐฯ ไม่ได้แย่ในทุกสาขา

จากการศึกษาโครงสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ พบว่า แรงงานกว่าร้อยละ 90 อยู่ในภาคบริการขณะที่ภาคการผลิตมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 สำหรับภาคการเกษตรนั้นมีสัดส่วนน้อยเพียงประมาณร้อยละ 2 ของตำแหน่งงาน และจากตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payroll)

.

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 พบว่าร้อยละ 20 ของตำแหน่งงานอยู่ในภาคการค้าและการขนส่ง รองลงมา ได้แก่ ภาคราชการและภาคการศึกษาและสุขภาพซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 17 และร้อยละ 15 ของตำแหน่งงานตามลำดับ (ภาพที่ 2)

.
ภาพที่ 2 สัดส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตร

ที่มา: Bureau of Labor Statistics และ CEIC

.

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรในรายสาขา (ภาพที่ 3) พบว่านับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ สาขาที่ตำแหน่งงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องได้แก่ สาขาการค้าและการขนส่ง สาขาการก่อสร้าง สาขาการผลิตภาคอุตสาหกรรม และสาขาธุรกิจ (Professional and Business) ซึ่งสาขาดังกล่าวล้วนเป็นสาขาที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนตำแหน่งงานกว่าร้อยละ 45 ของตำแหน่งงานทั้งหมด

.

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีบางสาขาที่มีจำนวนตำแหน่งงาน (การจ้างงาน) เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการศึกษาและสุขภาพสำหรับสาขาที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานมากนัก ได้แก่ สาขาเหมืองแร่ สาขาการสื่อสาร สาขาการเงินสาขาสันทนาการ (Leisure and Hospitality) และสาขาราชการ

.

ภาพที่ 3 ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรรายสาขา (ปรับผลทางฤดูกาล)

ที่มา: Bureau of Labor Statistics และ CEIC

.

4. แผนการกระตุ้นการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลเป็นรูปธรรม

ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของนายกรัฐมนตรีบารัก โอบามา ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการจ้างงาน

.

ซึ่งทางการสหรัฐฯ คาดว่างบประมาณดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (เพิ่มขึ้นหรือลดการว่างงาน) ประมาณ 6.9 ล้านตำแหน่งงานในช่วงปี 2552 – 2555 โดยประมาณการณ์ไว้ว่าในปี 2552 และ 2553 จะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นหรือลดการว่างงาน 3.7 ล้านตำแหน่ง4 อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

.

ดังที่แสดงไว้ในภาพที่ 1 จะเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร และปัญหาการว่างงานที่ปัจจุบันมีผู้ว่างงานกว่า 14 ล้านคนนั้น จะยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่สหรัฐฯ จะต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่การจ้างงานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่น สาขาการค้าและการขนส่ง สาขาการก่อสร้างและสาขาการผลิต โดยเฉพาะสาขาการก่อสร้างที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

.

5. ผลกระทบจากปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย

ปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯ นับว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องจับตามอง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ผ่านช่องทางการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวชะลอลง จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของไทยผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

.

(1) ช่องทางการค้า

          (1.1) การส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 10.4 ของการส่งออกทั้งหมด โดยในช่วงเดือน ม.ค. – ส.ค. 53 สินค้าส่งออกของไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 12.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.2

.

ดังนั้น ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจึงส่งผลต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ไทยยังอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการส่งออกสินค้าไทยไปยังอาเซียน ซึ่งอาจจะมีปริมาณลดลงหากการส่งออกของอาเซียนไปยังสหรัฐฯ ลดลง

.

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 23.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยในช่วงเดือน ม.ค.- ส.ค. 53 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังอาเซียนมีมูลค่ากว่า 29.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

          (1.2) การท่องเที่ยวผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ที่เดินทางมีประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยในช่วงเดือน ม.ค. – ส.ค. 53 มีนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เดินทางมาไทยกว่า 4.9 แสนคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.6 ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงก็จะกระทบต่อรายได้จากนักท่องเที่ยวในส่วนนี้

.

(2) ช่องทางการลงทุน

          (2.1) การลงทุนโดยตรงจะได้รับผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนโดยตรงสุทธิเป็นอันดับที่ 7 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนสุทธิที่ร้อยละ 2.7 ของการลงทุนโดยตรงสุทธิทั้งหมด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 53 การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหรัฐฯ มายังไทยมีมูลค่า 60.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจึงส่งผลต่อการลงทุนของสหรัฐฯในไทยอยู่บ้าง

.

          (2.2) การลงทุนทางอ้อมจะได้รับผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนในเรือนหุ้นเป็นอันดับที่ 7 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนสุทธิที่ร้อยละ 2.6 ของการลงทุนในเรือนหุ้นทั้งหมด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 53 การลงทุนในเรือนหุ้นจากสหรัฐฯ มายังไทยมีมูลค่า 69.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจึงส่งผลต่อการลงทุนของสหรัฐฯในไทยอยู่บ้าง

.

ทั้งนี้ สศค. คาดว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 1.0 ต่อปี จะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยประมาณร้อยละ 0.1 ต่อปี

.

6. บทสรุปและนัยเชิงนโยบาย

การวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการจ้างงานในสหรัฐฯ ในบทความนี้ ทำให้เราทราบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญนั้น จะยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันมิได้ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและลดระดับการว่างงานที่มากเพียงพอ

.

นอกจากนี้ แม้ว่าภาคธุรกิจจะสามารถทำกำไรได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ภาคธุรกิจยังคงมีแนวโน้มที่จะชะลอการจ้างงานและการลงทุนออกไปอีกระยะหนึ่ง

.

สำหรับประเทศไทย บทความนี้ ได้แสดงให้เห็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าสินค้า การท่องเที่ยว การลงทุนทางตรงและการลงทุนทางอ้อมโดยประมาณว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงร้อยละ 1 ต่อปี จะทำให้เศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ 0.1 ต่อปี ดังนั้น จึงขอเสนอนัยเชิงนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้

.

1. สนับสนุนนโยบายเพื่อการกระจายตลาดส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยจากเดิมที่พึ่งพาตลาดในสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ไปยังตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดียและจีนและตลาดในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

.

2. สนับสนุนให้เกิดอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน เพื่อลดการพึ่งพาภาคการส่งออกในการเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภาครัฐฯ ควรเร่งการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจ้างงาน การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน

.

3. สนับสนุนนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ เช่นจีนและประเทศในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นการบรรเทาผลกระทบจากมูลค่าการลงทุนที่ลดลงจากประเทศสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น

.

4. ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท มิให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ มากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น

.

1ผู้เขียน ดร.สิริกมล อุดมผล ส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ คุณบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับคำแนะนำ
.

2เป็นตัวเลขและอัตราการว่างงานที่ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว
3อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 53 หน้าที่ 17
4http://www.recovery.gov/About/Documents/Jobs_Report_Final.pdf

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง