เนื้อหาวันที่ : 2010-11-16 14:21:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2632 views

อีกก้าวแห่งความสำเร็จของ 5 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย

5 ผลงานผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยสุดยอดด้านการออกแบบที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลผลิตจากการนำงานวิจัยไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

.

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอโชว์ผลงานความสำเร็จ 5 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยด้านการออกแบบ เป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและญี่ปุ่น

.
กนกวรรณ บัวผุด
สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2
.
บทบาท สศอ.

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้สนับสนุนให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) ด้านเทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและวิศวกรรมภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

.

ในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกและถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอเทคนิค ตลอดจนมีการดำเนินการทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้กับการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค

.

เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเชิงพาณิชย์และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างเป็นระบบและเหมาะสม และสามารถขยายตลาด ทำการตลาด ตลอดจนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ซึ่งจะมีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีศักยภาพและความยั่งยืนตลอดไป

.
ความสำคัญของสิ่งทอเทคนิค

เนื่องจากภาวะการค้าของโลกปัจจุบัน การแข่งขันของสินค้าสิ่งทอในตลาดโลกมีค่อนข้างสูงประเทศที่ประสบปัญหาต้นทุนของค่าแรงสูงได้เริ่มหันมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตสิ่งทอที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติที่เฉพาะและมีความหลากหลายตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นหรือที่เรียกว่า สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles)

.

ซึ่งมีสมบัติพิเศษเฉพาะทางเป็นทางเลือกสำคัญที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยจะใช้สร้างโอกาสในการแข่งขันจึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการในประเทศ ต้องปรับตัว หันมาศึกษาทำความเข้าใจสิ่งทอเทคนิคตั้งแต่พื้นฐานด้านวัสดุ/วัตถุดิบ การวิจัยและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการตลาดสำหรับสิ่งทอเทคนิค

.

แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในอุตสาหกรรมประเภทนี้ จึงต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับการอบรมและถ่ายทอดความรู้ ได้รับคำปรึกษาแนะนำในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอเทคนิคอย่างครบถ้วนซึ่งนั่นหมายถึงการสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่ครบวงจรของสิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) และต้องมีการทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

.

โดยการพัฒนาความสามารถในการนำงานวิจัยไปต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับเปลี่ยนกระบวน การผลิตให้เพิ่มผลิตภาพ (Productivity)

.
การประกวดเผยแพร่ผลงานวิจัย

จากการดำเนินงานในปี 2552 และ 2553 เพื่อเป็นการเผยแพร่งานวิจัยจากโครงการดังกล่าวและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศเห็นความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงได้ส่งผลงานวิจัยจากโครงการดังกล่าวเข้าประกวดรางวัลระดับประเทศในงาน Prime Minister’s Export Award ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อประกวดรางวัล Design Excellence Award (DEmark)

.

โดยกรมส่งเสริมการส่งออกได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และสมาคมส่งเสริมการออกแบบของอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Industrial Design Promotion Organization: JIDPO) สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณารางวัล DEmark ของไทย ซึ่งข้อดีของรางวัล DEmark มีดังนี้

.

- เป็นรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี โดยมุ่งส่งเสริมการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างตราสินค้าของไทยเพื่อการส่งออกและสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้

.

- ตราสัญลักษณ์ของรางวัล คือ DEmark เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ
- ใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย
- ยกระดับสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายและสามารถแข่งขันใน ตลาดโลก

.

- สินค้าไทยที่ได้รับรางวัล DEmark จะถูกส่งเข้าร่วมประกวด รางวัล Good Design Award (G-Mark) ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ดีในการประชาสัมพันธ์รางวัล DEmark จากไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล อีกทั้งยังเป็นการผลักดันสินค้าที่มีการออกแบบดีจากไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น 5 ผลิตภัณฑ์คุณภาพยอดเยี่ยม ที่ได้รับรางวัลมีดังนี้

.

• รางวัล Design Excellence Award (DEmark) และ Good Design Expo 2009 (G-mark) ปี 2552 ซึ่งสามารถชนะการประกวดได้รับทั้ง 2 รางวัลจากประเทศไทยและญี่ปุ่น คือ

.

.

(1) ผลิตภัณฑ์เส้นใยกล้วย ซึ่งเส้นใยกล้วยมีความมันเงาสวยงาม สามารถไปผสมกับเส้นใยอื่นๆ และมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ จากการผลิตผืนผ้าจากเส้นใยกล้วยผสมเส้นใยวิสคอสและเส้นใยพอลิเอสเตอร์ ทำให้ได้ผ้าที่มีสัมผัสที่ดีขึ้น ดูดซับน้ำได้ดี

.

ช่วยระบายอากาศและมีความทนทาน เหมาะสำหรับการตัดเย็บเป็นเครื่องแบบและผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ซึ่งการนำเศษวัสดุเกษตรมาใช้เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและตลาดได้ด้วย

.

(2) Coconut Charcoal in Polyester Fibers เป็นการนำกะลามะพร้าวมาเผาและลดขนาดให้มีขนาดเล็กจนได้เป็นถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) ที่สามารถนำไปผสมในพอลิเอสเตอร์กลายเป็นเส้นใยพอลิเอสเตอร์ที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถดูดซึมความชื้น และดูดกลิ่นของเส้นใยได้มากขึ้น

.

.

• รางวัล Design Excellence Award (DEmark) และ Good Design Expo 2010 (G-mark) ปี 2553 ซึ่งสามารถชนะการประกวดได้รับทั้ง 2 รางวัลจากประเทศไทยและญี่ปุ่น คือ

.

(3) ผลิตภัณฑ์เส้นใยพอลิไพรพิลีนผสมถ่านแมคคาเพื่อเพิ่มสมบัติการแผ่รังสีฟรา-อินฟาเรด เป็นการพัฒนากระบวนการฉีดเส้นใยโพลีโพรไพรีนผสมถ่านแมคคา (แมคคาดีเมียร์) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแผ่รังสีอินฟราเรดแบบไกล (Far Infrared) ซึ่งในทางการแพทย์จัดว่าเป็น Biogenetic Rays ช่วยแผ่รังสีความร้อน ช่วยการหมุนเวียนของโลหิตสามารถประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่าง ๆ

.

.

(4) ผลิตภัณฑ์เส้นใยและสิ่งทอจากขวด PET รีไซเคิล เป็นการพัฒนากระบวนการนำขวดน้ำดื่ม PET ที่ ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยนำขวด PET มาหลอมเป็นเม็ดพอลิเอสเตอร์อีกครั้งหนึ่งแล้วไปขึ้นรูปเป็นเส้นใย

.

ซึ่งเส้นใยที่ได้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเส้นใยที่ผลิตจากพอลิเมอร์ใหม่ เหมาะสมในการผลิตเส้นใยเพื่องานสิ่งทอได้ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง ลดการใช้สารเคมีที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใย สามารถลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

.

.

• รางวัล Design Excellence Award (DEmark) ปี 2553 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ชนะการประกวดสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี คือ

.

(5) ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนำความร้อนจากเส้นใยนาโนคาร์บอน เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตแผ่นนาโนคาร์บอนนำความร้อน จากเทคนิค Electro- Spinning โดยใช้สารโพลีอะคริโลไนไตรล์ (Polyacrylonitrile; PAN) เป็นวัตถุดิบ ผ่านการเผาในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อให้พลังงานไฟฟ้าแล้วพบว่าผ้าผืนจะสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานความร้อนได้

.

โดยใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และนำไปประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้มากขึ้น และงานทางด้านการแพทย์หรือ การกีฬาได้ เช่น ถุงมือ ถุงนอน หรือเสื้อ แจ็กเก็ตให้ความอบอุ่น (Heated Jacket) โอกาสและช่องทางสู่อนาคต

.

.

จากความสำเร็จดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการของไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่จะนำงานวิจัยต่างๆ มาประยุกต์ใช้และต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอแห่งอนาคตโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ความแปลกใหม่ และสร้างความแตกต่าง จากตลาดทั่วไปเพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย

.

ตัวอย่าง 5 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยที่ได้รับรางวัลทั้งจากในและต่างประเทศแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัยพัฒนาที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มและทำรายได้ อีกทั้งยังได้รับรางวัลทั้งจากในและต่างประเทศที่ช่วยยืนยันคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกด้วย

.

ที่มา: 1) กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
        2) ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ


.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสหากรรม