เนื้อหาวันที่ : 2010-11-16 10:38:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 543 views

ครม.สั่งก.แรงงานเร่งช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างจากภัยน้ำท่วมด่วน

ครม.เศรษฐกิจมอบกระทรวงแรงงานเร่งสำรวจให้การช่วยเหลือแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างจากเหตการณ์อุทกภัย

.

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มอบ กษ.เร่งสำรวจเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย - วาตภัย เร่งให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่ครม. มีมติ - มอบ รง. เร่งสำรวจแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างจากเหตุอุทกภัย เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

.

วานนี้ (15 พ.ย. 2553)  เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 12/2553 ภายหลังการประชุม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

.

1. รายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์อุทกภัยที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่อีกใน 20 จังหวัด และประมาณการประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 3.819 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 13.456 ล้านราย

.

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงการคลังโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการประมาณการลูกหนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดย ธ.ก.ส. จะพิจารณางดคิดดอกเบี้ยและขอชดเชยจากรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับเงินกู้เงินทุนหมุนเวียนของกระทรวงอุตสาหกรรม

.

โดยการพักชำระหนี้ ขอตัดหนี้สูญกรณีเสียชีวิต และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 กรณีขอกู้เงินเพื่อฟื้นฟูกิจการ นอกจากนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คอช.) ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งอนุมัติขยายกรอบวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ จำนวน 132.638 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้

.

รวมทั้งเห็นชอบมาตรการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายที่กันไว้เหลื่อมปีตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และมีมติเห็นชอบการทบทวนและปรับแผนโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินตามแผนไทยเข้มแข็ง 2555 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป

.

คณะกรรมการ รศก. ได้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยังต้องเฝ้าระวังอุทกภัยในบริเวณภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยสถานการณ์อุทกภัยโดยรวมคาดการณ์ว่าจะคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไป สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย (รายละ 5,000 บาท) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน 2553

.

โดยในส่วนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน รวมทั้งกระจายความช่วยเหลือให้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการ รศก. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการสำรวจเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยและวาตภัย

.

รวมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้ นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการประกันรายได้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและกระจายความช่วยเหลือให้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

.

2. ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

2.1 มาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเติม เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ จากเดิมที่ได้รับงบประมาณในปี 2554 จำนวน 139.838 ล้านบาท เป็น 406.759 ล้านบาท

.

ทั้งนี้ คณะกรรมการ รศก. ได้มีความเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นภารกิจปกติของหน่วยงานซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาปรับงบประมาณประจำปี 2554 ในสัดส่วนร้อยละ 5-10 ในการจัดทำภารกิจการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

.

ดังนั้น คณะกรรมการ รศก. จึงได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งสำรวจแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างซึ่งมีสาเหตุจากเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อให้สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ในการฟื้นฟูแรงงานหลังภาวะน้ำท่วมนั้นให้พิจารณาส่งเสริมการใช้แรงงานท้องถิ่นเป็นลำดับแรกด้วย

.

2.2 การส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม ตามที่สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ซึ่งข้อเสนอประกอบด้วย (1) หลักเกณฑ์การจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม และมาตรการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม และ (2) แนวทางการดำเนินงาน โดยกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หมายถึงกิจการที่ภาคเอกชนหรือภาคประชาชนเป็นเจ้าของ

.

มีรายรับจากการขาย การผลิต หรือการให้บริการ ซึ่งมิได้มีเป้าหมายที่จะสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของ และมีลักษณะพิเศษ อาทิ กระบวนการผลิต การดำเนินกิจการ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องในระยะยาวต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง ตลอดจนมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

.

คณะกรรมการ รศก. ได้มีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม อย่างไรก็ตาม สกส. จำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาหรือนิยามของกิจการในลักษณะดังกล่าวที่ชัดเจน

.

เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาในรายละเอียดการส่งเสริมหรือสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ในอนาคตมีความเหมาะสมและชัดเจน เพื่อให้มีความแตกต่างระหว่างการสนับสนุนการทำ CSR กับการสนับสนุนกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ (NGO) รวมทั้ง ควรมีกลไกในการตรวจสอบการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม

.

คณะกรรมการ รศก. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม โดยมอบหมายให้ สกส. ปรับปรุงในรายละเอียดของนิยามให้ชัดเจนตามความเห็นของที่ประชุม รวมทั้ง ให้มีกลไกการตรวจสอบการดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ สกส. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมต่อไป

.

2.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอ เช่น อนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออกเพื่อทดแทนกับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น

.

โดยคณะกรรมการ รศก. ได้รับทราบข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาทของกระทรวงพาณิชย์ สำหรับข้อเสนอการขออนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และการลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออกเพื่อทดแทนกับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น ควรพิจารณาปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย