เนื้อหาวันที่ : 2010-11-15 11:16:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 494 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 15 พ.ย. 2553

1. ธปท.เผยญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุน FDI ปี 52

-  ธปท.เปิดเผยยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (inward FDI) ในปี 52 มีมูลค่ารวม 87,424 ล้านดอลลร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเข้ามาลงทุนมากที่สุดซึ่งมีมูลค่า 30,588 ล้านดอลลาร์ สรอ.

.

โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 58.3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง และธุรกิจสถาบันการเงิน ตามลำดับ

.

ขณะที่การลงทุนในตลาดตราสารทุนไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 65.1 โดยเป็นการลงทุนจากสหราชอาณาจักรมากที่สุด ส่วนการลงทุนโดยตรงของคนไทยในต่างประเทศ (outward FDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 โดยเป็นการลงทุนในประเทศพม่ามากที่สุด และการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 186 โดยเฉพาะการลงทุนในเกาหลีใต้

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจไทยที่มีความแข็งแกร่ง ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น ส่วนการลงทุนในต่างประเทศของคนไทยที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการใช้เงินทุนสะสมที่มีอยู่ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

.

2. ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 3 ปี 53 ปรับตัวสูงขึ้น

-  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 3 มีทั้งสิ้น 8.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,880 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้จ่ายในประเทศ 6.29 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.53 ในขณะที่ยอดการใช้จ่ายต่างประเทศสูงถึง 3,940 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  11.45 และมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ปี 53 จะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคตัวอื่นๆ

.

เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 13.0 และ 46.6 ต่อปี ตามลำดับ  ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 53 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณที่ร้อยละ 5.0 - 5.5 ต่อปี)

.

3. GDP ญี่ปุ่นโตเกินคาดใน Q3/53

-  รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า GDP ไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี(annualised) ทำสถิติขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์สำนักข่าวเกียวโตคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.6 ต่อปี (annualised) ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของตัวเลขจีดีพี ขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาส 3 ปีนี้ และตัวเลขการใช้จ่ายด้านทุนในภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.8

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเที่ยบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยแหล่งที่มาของการขยายตัว(Contribution) มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เร่งการใช้จ่ายก่อนหมดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น

.

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวเพียงร้อยละ 30.0 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 34.7 ต่อปี สะท้อนถึงอุปสงค์จากญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มแผ่วลง รวมถึงค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 53 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 53)

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง