เนื้อหาวันที่ : 2010-11-05 18:02:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2653 views

แนะอุตฯ อาหารเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับตลาดผู้สูงอายุ

สถาบันอาหาร ชี้ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุนับวันยิ่งโต แนะผู้ประกอบการอุตฯ อาหารไทย เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับ

.

สถาบันอาหาร ชี้ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุนับวันยิ่งโต แนะผู้ประกอบการอุตฯ อาหารไทย เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับ

.

ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุโตต่อเนื่อง “สถาบันอาหาร” ระบุ เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยที่จะได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องก้าวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และฉกฉวยโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งรูปแบบ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ต้องเหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเหลว          

.

และต้องสอดคล้องกับความต้องการตามวัย เช่น อาหารที่มีปริมาณแคลอรีต่ำ มีโซเดียมต่ำ มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือสารที่ช่วยชะลอความแก่ เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้สูงอายุยังนิยมซื้อสินค้าอาหารที่มีขนาดบรรจุขนาดเล็ก และนิยมใช้ไมโครเวฟในการเตรียมอาหาร อาหารแช่แข็งพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทานจึงเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุ

.

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป จากรายงานขององค์การสหประชาชาติพบว่า ในปี 2552 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีประชากรประมาณ 6,830 ล้านคน

.

โดยในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 737 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 10.8 และในปี 2593 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,150 ล้านคน และเป็นผู้สูงอายุ 2,000 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 21.9 ของประชากรโลก

.

สำหรับประเทศไทยก็มีแนวโน้มไม่แตกต่างกับหลายประเทศทั่วโลก เพราะจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุไว้ว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีจำนวนประชากรสูงอายุ 6.5 ล้านคน หรือร้อยละ 10.1 จากประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคนในขณะนั้น                               

.

และในปี 2568 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากในปีดังกล่าวประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 20 หรือ 15 ล้านคน จากจำนวนประชากร 75 ล้านคนทั่วประเทศ 

.

“ในด้านของอุตสาหกรรมอาหาร การขยายตัวของกลุ่มผู้สูงอายุนี้ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจที่จะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน และอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการตามวัย เช่น อาหารที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เป็นต้น

.

ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไปที่มีการพัฒนารูปแบบและคุณสมบัติ

.

บางประการให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเหลว (บดละเอียดหรือตัดเป็นชิ้นเล็กๆ) ผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการตามวัย เช่น อาหารที่มีปริมาณแคลอรีต่ำ อาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือสารที่ช่วยชะลอความแก่ เป็นต้น”

.

นายอมร งามมงคลรัตน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตยังส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารด้วยเช่นกัน โดยผลจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุยุคใหม่มักอาศัยอยู่แบบครอบครัวขนาดเล็กหรืออยู่คนเดียว นิยมซื้อ สินค้าอาหารที่มีขนาดบรรจุขนาดเล็ก สำหรับรับประทานเพียง 1-2 มื้อ และนิยมใช้ไมโครเวฟในการเตรียมอาหาร

.

ดังนั้น อาหารแช่แข็งพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทานจึงเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุ ส่วนฉลากอาหารสำหรับผู้สูงอายุควรมีขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอเหมาะให้ผู้สูงอายุสามารถอ่านได้ชัดเจน และหากมีคำอธิบายเกี่ยวกับอาหารที่อ่านเข้าใจง่ายแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในตัวสินค้าได้อีกทางหนึ่ง

.

ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ตื่นตัวในการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากแนวโน้มการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของทั่วโลก คาดว่าอนาคตอันใกล้นี้กลุ่มผู้สูงอายุทั่วโลกจะกลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และน่าจับตามองมากที่สุด

.

ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยควรก้าวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ และฉกฉวยโอกาสพัฒนาสินค้าอาหารของไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มความหลากหลายและจับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก็จะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกได้อย่างมหาศาล

.

โดยเริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุและนำความต้องการนั้นเข้าไปใส่ในตัวสินค้า ไม่ควรระบุหรือโฆษณาว่า “เป็นสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ” เพราะพฤติกรรมของคนโดยทั่วไปมักไม่มีใครยอมรับว่าตนเองแก่ แม้คนวัยนี้จะไม่ต้องการความดูดีเหมือนวัยรุ่นหนุ่มสาว แต่ก็ต้องการความรู้สึกดีเมื่อได้ใช้สินค้าและบริการต่างๆ