เนื้อหาวันที่ : 2010-11-05 17:06:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1668 views

วันนี้คุณมองหาสินค้าฉลากเขียวแล้วหรือยัง

หลายคนคงคุ้นชินกับการรณรงค์ให้ถือถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้วิธีการง่าย ๆ อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยตัวเอง

.

การดำเนินชีวิต และดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกผสมผสานเข้าเป็นนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหลายแห่งด้วยการพยายามหาวิธีการหลากหลายที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับเราๆ ท่านๆ ก็คงคุ้นชินกับการรณรงค์ให้ถือถุงผ้าออกไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก           

.

การเลือกใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าวิธีง่ายๆ อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยมือของเราด้วยวิธีการตามแนวทางกรีนมีทติ้งส์ คือการเลือกซื้อสินค้าฉลากเขียว หรือสินค้า และบริการที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

.

การเลือกซื้อสินค้าฉลากเขียว หรือ Green procurement เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานกรีนมีทติ้งส์ จากทั้งหมด 8 แนวทางปฏิบัติที่ระบุไว้ใน Green Meetings Guideline ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กำลังรณรงค์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ และผู้ใช้บริการในการจัดงานประชุม สัมมนา และงานเลี้ยงสังสรรค์ ได้นำไปใช้อยู่ในขณะนี้

.

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว (Green label หรือ Eco-label) หรือที่เรียกกันติดปากว่าผลิตภัณฑ์สีเขียว คือผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยจะได้รับการควบคุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต การขนส่ง จนกระทั่งการกำจัดทำลาย เพื่อช่วยลดการปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดพลังงาน

.

.

แท้จริงแล้วโครงการฉลากเขียวในประเทศไทยได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2536 ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวมากกว่า 40 รายการ โดยไม่รวมยา อาหาร และเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไมซ์หรืออุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา

.

เช่น ธุรกิจโรงแรม ศูนย์ประชุม จัดเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น ก็สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้การจัดซื้อสีเขียว ทั้งฝั่งผู้ประกอบการไมซ์เองคือโรงแรม และผู้เกี่ยวข้อง และในฝั่งของผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน 

.

เช่น กระดาษ เครื่องเขียน คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร ตลับหมึก เครื่องพิมพ์ สถานที่จัดงาน ที่พัก และการขนส่ง เช่น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ สีทาผนัง สิ่งอำนวยความสะดวกและทำความสะอาด เช่น ตู้เย็น เครื่องสุขภัณฑ์ กระดาษชำระ เครื่องซักผ้า สบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดถ้วยชามและพื้นผิว เป็นต้น เมื่อผู้บริโภคเรียกหาสินค้าฉลากเขียวมากขึ้น การพัฒนาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

.

เลือกที่จะแตกต่างอย่างมีคุณภาพ กับคุณสมบัติที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
          1. มีส่วนประกอบที่ทำจากวัสดุแปรใช้ใหม่ (Recycled content)
          2. สามารถนำไปแปรใช้ใหม่ได้ (Recyclability)
          3. ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน (Product disassembly potential)
          4. ทนทาน (Durability)
          5. สามารถใช้ซ้ำได้ (Reusability)
          6. รับคืนซาก (Take-back)
          7. ผลิตจากวัสดุชีวภาพ (Bio-based)
          8. ประหยัดพลังงาน (Energy efficiency)
          9. ประหยัดน้ำ (Water efficiency)
          10. เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตซ้ำ (Reconditioned or remanufactured)
          11. อื่นๆ ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Other attributes with positive environmental effects)

.

คงจะดีหากเราช่วยกันสังเกตสัญลักษณ์ฉลากเขียวทุกครั้งก่อนซื้อสินค้า จะได้มั่นใจว่าเงินทุกบาทของเราถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า นอกจากจะได้สินค้าคุณภาพดีแล้วยังช่วยต่ออายุให้โลกได้อีกทางหนึ่ง