เนื้อหาวันที่ : 2010-11-05 09:53:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1830 views

ทางเลือกมาตรการคุมเข้มเงินทุนไหลเข้าสกัดบาทแข็ง

ความต้องการที่จะชะลอเงินทุนไหลเข้า มีพื้นฐานจากความกลัวทางเศรษฐกิจ การควบคุมเงินทุนไม่อาจทำให้ค่าเงินเปลี่ยนทิศทางได้หากมาตรการไม่แข็งพอ

.

TMB Analytics แนะทางเลือกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ความต้องการที่จะชะลอเงินทุนไหลเข้า มีพื้นฐานมาจากความกลัวทางเศรษฐกิจ 6 ประการ การควบคุมเงินทุนไม่สามารถทำให้ค่าเงินเปลี่ยนทิศทางแนวโน้มได้หากมาตรการไม่แข็งกร้าวอย่างที่สุด

.

“TMB Analytics” หรือ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมเงินทุนไหล ที่มีกระแสเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้รัฐและธปท. ใช้ยาแรงจัดการกับเงินบาทที่แข็งขึ้นกว่าร้อยละ 6 จากกลางปี ซึ่งน่าจะเริ่มแข็งขึ้นระลอกสองหลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาประกาศการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอีกครั้งเป็นจำนวน 6 แสนล้านเหรียญเพื่อพยุงเศรษฐกิจ     

.

บางกลุ่มถึงขั้นเสนอให้รัฐใช้ยาเบื่อ อีกทั้งยังวิจารณ์ว่ามาตรการที่ออกมาเป็นเสมือนแค่ยาดมเท่านั้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ผ่านมา      

.

หากถามว่า มีเหตุผลที่จะมาสนับสนุนการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนหรือไม่ คำตอบคือ ”มี” ถึงแม้การเลือกใช้มาตรการในการควบคุมเงินทุนไหลเข้าจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจ สถานการณ์ และประเภท ”ความกลัว” ของแต่ละประเทศ แต่การตัดสินใจเลือกใช้นโยบายอย่างสมเหตุสมผลนั้น จะต้องอยู่บนเป้าหมายที่พยายามจะลดความเสี่ยงของทั้งระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเน้นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใดภาคหนึ่ง

.

ความต้องการที่จะชะลอเงินทุนไหลเข้า มีพื้นฐานมาจากความกลัว 6 ประการ ได้แก่ 1) กลัวเงินแข็ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมาก ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 2) กลัวเงินร้อน เนื่องจากไทย มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กและเปิดกว้าง ดังนั้นการมีเงินเก็งกำไรไหลเข้าๆออกๆย่อมก่อให้เกิดความผันผวนแก่ตลาดการเงินในประเทศ

.

3) กลัวเงินทุนก้อนใหญ่ ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะเข้ามาทำอะไรก็ตาม มันก็อาจส่งผลให้เงินทุนถูกใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ และแน่นอนเมื่อเข้าได้ย่อมออกได้เช่นกัน 4)กลัวการบั่นทอนอิสรภาพของนโยบายการเงิน ในเชิงทฤษฎีชี้ชัดว่า เราไม่สามารถดำเนินนโยบายเปิดเสรีเงินทุน, ตรึงค่าเงินให้นิ่ง และมีอิสรภาพของนโยบายการเงินไปพร้อมๆ กันได้ เช่น ถ้าอยากจะมี 2 อย่างหลัง ก็ต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน                    

.

5) กลัวฟองสบู่ในสินทรัพย์ เมื่อเงินไหลเข้ามาในรูปแบบต่างๆ อาจจะเป็นการลงทุน ในหุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์ทั้งหลายทยานสูงขึ้นได้โดยที่ยังไม่ได้นับรวมผลของแมงเม่าที่กระโจนเข้ามาเล่นด้วย และ 6) กลัวเงินไหลออกอย่างรวดเร็วหรือเงินทุน “เผ่น” อย่างประสบการณ์เมื่อวิกฤตปี 2540

.

ความกลัวที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มความกลัวด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ กลุ่มความกลัวด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจ

.

“TMB Analytics” หรือ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” วิเคราะห์ว่าหากเรียงลำดับนโยบาย ยาขมที่แรงที่สุดคงเป็นการกลับไปตรึงค่าเงินบาทอีกรอบเหมือนสมัยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่คำถาม คือ ค่าเงินเท่าไหร่เป็นระดับเหมาะสมยิ่งในภาวะเศรษฐกิจโลกทรงตัวการลงทุนระยะสั้น และการเก็งกำไรจึงค่อนข้างมาก                     

.

ดังนั้นการตรึงค่าเงินจึงเป็นมาตรการที่มีต้นทุนในการดูแลสูงมาก รองลงมาน่าจะเป็นกลุ่มนโยบายภาษีธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Transaction Tax) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tobin’s Tax กลุ่มนี้เป็นการเก็บภาษีทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน หรือเก็บเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินหลุดกรอบเป้าหมาย แต่เนื่องจากเป็นการกว้านเก็บจากทุกธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว จึงทำให้มีโอกาสสร้างผลเสียต่อภาพการลงทุนได้มาก

.

กลุ่มนโยบายถัดมา คือ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้า (URR) ซึ่งเป็นกลุ่มนโยบายที่มีการใช้กันค่อนข้างบ่อย เช่น ชิลี โคลอมเบีย ไทย เป็นต้น นโยบายในกลุ่มนี้เป็นการพยายามยืดระยะเวลาการลงทุนของเงินทุนต่างชาติด้วยการกันสำรองเงินลงทุนไว้ระยะเวลาหนึ่งความรุนแรงของมาตรการนี้อยู่ที่ระดับที่ใช้อีกทั้งยังสามารถเลือกบังคับใช้เป็นรายประเภทเงินทุนได้

.

ซึ่งเป็นการลดความยืดหยุ่นของนักลงทุนข้ามชาติในประเภทนั้นๆ เป็นอย่างมาก ต่อมาเป็นกลุ่มนโยบายที่เก็บภาษีบนเงินต้นของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ เช่น ภาษี IOF ของบราซิลที่เพิ่งปรับขึ้นเป็น 6% เป็นต้น ภาษีประเภทนี้สามารถเลือกบังคับใช้เป็นประเภทธุรกรรมได้ และอาจส่งผลให้เงินลงทุนหักเหไปในธุรกรรมประเภทอื่น

.

นโยบายการกำกับเพื่อลดความเสี่ยง (Prudential Regulations) เช่น การจำกัดการซื้อขายอนุพันธ์ในเกาหลีใต้ หรือการจำกัด position ในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารและไฟแนนซ์ อย่างที่เคยทำในไทยและเม็กซิโก เป็นต้น เป็นมาตรการที่จะถูกงัดมาใช้ในช่วงที่เงินทุนไหลเข้าอย่างไม่มีระบบผ่านภาคธนาคารและไฟแนนซ์เพื่อจำกัดธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

.

แต่ปัจจุบันระบบธนาคารไทยมีการพึ่งพาการกู้ยืมจากต่างประเทศน้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการประเภทนี้ ถัดมาเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีบนผลกำไรจากการลงทุนของเงิน ทุนต่างชาติเหมือนกับที่ครม.อนุมัติเมื่อ 12 ต.ค. 2553 ให้เก็บ 15% จากดอกเบี้ยและกำไรที่ได้จากการขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ

.

กลุ่มนี้เป็นนโยบายที่ไม่เข้มข้นมาก เพราะจะไม่นำกำไรก้อนใหญ่จากอัตราแลกเปลี่ยนมาคำนวนด้วย กลุ่มที่รั้งท้ายๆ ทางความเข้มข้นคือนโยบายมหภาค เช่น การลดดอกเบี้ย นโยบายที่สนับสนุนให้นักลงทุนในประเทศสวนทางไปลงทุนต่างประเทศและนโยบายการแทรกแซงค่าเงินด้วย reserve ซึ่งเราค่อนข้าง คุ้นเคยกันอยู่

.

อย่างไรก็ดี งานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ว่า มาตรการควบคุมการไหลของเงินทุนแบบไม่เต็มที่ ให้ผลลัพธ์เพียงน้อยนิดต่อการลดปริมาณการไหลเข้าของเงินทุน ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพอยู่บ้างในการเปลี่ยนโครงสร้างหรือองค์ประกอบของเงินทุน แต่ดูเหมือนว่าการควบคุมเงินทุนกลับเพิ่มความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินเปลี่ยนทิศทางแนวโน้มได้หากมาตรการไม่แข็งกร้าว หรือเข้มข้นอย่างที่สุด

.

มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อตอบโจทย์ความกลัวด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าในด้านการเยียวยาความกลัวด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ มาตรการเหล่านี้ถือว่ามีประสิทธิภาพน้อยเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มค่าเงินได้                      

.

ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการอื่นเสริมที่เน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผล กระทบโดยตรง เช่น การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การผ่อนปรนทางภาษี และการสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถึงแม้จะไม่เป็นการทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลง แต่ก็เป็นการบรรเทาปัญหาศักยภาพทางการแข่งขันที่ตรงจุด

.

การพยายามเปลี่ยนทิศทางค่าเงินต้องใช้มาตรการที่เข้มข้น แต่สุดท้ายจะย้อนกลับมาทำลายภาวะการลงทุนของประเทศ ดังนั้นการดูแลค่าเงินควรเน้นให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่ากลางของทั้งภูมิภาค

.

รัฐควรให้ความสำคัญกับช่องทางการคาดการณ์ (expectation channel) ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญมากสำหรับนักเก็งกำไรและนักลงทุนระยะสั้นแต่ถูกมองข้ามเรื่อยมา เช่น รัฐอาจจะแสดงจุดยืนในระยะกลางว่าจะเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ เป็นต้น