เนื้อหาวันที่ : 2010-11-03 15:29:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4120 views

การใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลอย่างปลอดภัย

การทำงานในปัจจุบันของเรา มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะได้มีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร เข้ามาช่วยให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากมีการใช้เจ้าบรรดา ‘เครื่องทุ่นแรง’ เหล่านั้นอย่างผิดวิธี หรือขาดความระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เกิดเรื่องน่าสลดหดหู่ได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน

ศิริพร  วันฟั่น

.

.

การทำงานในปัจจุบันของเรา มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะได้มีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนเครื่องจักรต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากมีการใช้เจ้าบรรดา ‘เครื่องทุ่นแรง’ เหล่านั้นอย่างผิดวิธี หรือขาดความระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เกิดเรื่องน่าสลดหดหู่ได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน

.

และในคราวนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องการรักษาตัวรอดให้ปลอดภัย ในยามใช้งานเครื่องมือและเครื่องมือกลต่าง ๆ แต่ก่อนจะไปว่ากันถึงรายละเอียดของเรื่องความปลอดภัย เราลองมาทบทวนความจำกันสักนิดว่า คำว่า เครื่องมือ และเครื่องมือกล คืออะไร กินความหมายกว้างแค่ไหน และมีความแตกต่างจากเครื่องจักรอย่างไร

.

1. ความหมายของเครื่องมือและเครื่องมือกล

1.1 เครื่องมือ หรือ Hand Tools หมายถึง อุปกรณ์ในการทำงานที่เราใช้งานโดยอาศัยกำลังจากมือและแขน โดยทั่วไปจะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กพอเหมาะพอเจาะกับมือของเรา และมีน้ำหนักเบา เพื่อที่จะได้ใช้งานได้อย่างสะดวกและ เหมาะมือนั่นเอง เช่น สกัด ตะไบ ไขควง ค้อน เป็นต้น

.

1.2 เครื่องมือกล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ เครื่องมือกล หรือ Machine Tools และเครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้ หรือ Portable Power Tools ซึ่งเครื่องมือกลทั้งสองชนิด มีความแตกต่างกันดังนี้

.

- เครื่องมือกล หรือ Machine Tools หมายถึง เครื่องมือที่ทำงานโดยอาศัยพลังงานจากไฟฟ้า เครื่องยนต์ หรือต้นกำลังอื่น ๆ ปกติจะมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยมือ เช่น เครื่องกลึง สว่านแบบแท่น เลื่อยวงเดือน เป็นต้น

.

- เครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้ หรือ Portable Power Tools หมายถึง เครื่องมือกลขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ไม่ได้ยึดติดแน่นอยู่กับที่ เช่น สว่านมือไฟฟ้า เลื่อยมือไฟฟ้า เครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องเชื่อมแก๊ส เป็นต้น

.
2. ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกล

ปกติแล้วการเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ก็มักจะข้องเกี่ยวกับปัจจัย 3 ประการใหญ่ ๆ นั่นก็คือ คน (Man) เครื่องไม้เครื่องมือ (Equipment) และสภาพแวดล้อม (Environment) ซึ่งในการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกล ก็มีปัจจัยทั้ง 3 เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ ดังนี้

.
2.1 คน มีการทำงานอย่างไม่ปลอดภัย เช่น

- ใช้เครื่องมือไม่ถูกกับงานที่ทำ
- ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเครื่องมือนั้นไม่ปลอดภัย เช่น ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Machine Guarding) หรือชำรุด ก็ยังฝืนใช้งานไปแบบนั้น
- ไม่ยอมใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือใช้ไม่ถูกประเภท
- ปฏิบัติงานขณะที่ร่างกายไม่พร้อม เช่น อ่อนเพลีย ง่วง หรือเมา
- ประมาทเลินเล่อ หยอกล้อกันขณะปฏิบัติงาน
เป็นต้น

.

2.2 เครื่องไม้เครื่องมือ (Equipment) มีการออกแบบมาอย่างไม่เหมาะสมกับงาน เช่น มีขนาดและน้ำหนักไม่เหมาะมือ ใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

.

2.3 สภาพแวดล้อม (Environment) มีความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เช่น
- มีมลภาวะสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน เช่น เสียงดัง มีความร้อนสูง มีฝุ่นหรือสารเคมีมีพิษเจือปนในบรรยากาศสูงเกินมาตรฐาน
- พื้นเป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขัง
- การจัดวางเครื่องมือไม่เป็นระเบียบ หรือแน่นเกินไป
เป็นต้น

.
3. หลักการจัดการเกี่ยวกับเครื่องมือและเครื่องมือกล 

การจัดการเครื่องมือและเครื่องมือกลที่ดีนั้น นอกจากจะช่วยให้เราสามารถป้องกันการชำรุดเสียหายของเครื่องมือได้แล้ว ยังจะเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย โดยหลักการจัดการ มีดังนี้

.

3.1 มีการมอบหมายหน้าที่ และความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน ในการใช้ เก็บรักษา บำรุงรักษา ตลอดจนซ่อมแซมเครื่องมือและเครื่องมือกล โดยผู้ที่ได้รับหน้าที่นั้น ๆ จะต้องมีความรู้ ความสามารถในด้านนั้น ๆ เป็นอย่างดี

.

3.2 มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยประเด็นที่ควรอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานมีดังนี้
- การเลือกใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลให้ถูกต้องกับงานที่ทำ
- การใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลอย่างปลอดภัย
- ข้อจำกัดของเครื่องมือและเครื่องมือกลแต่ละประเภท
- วิธีการเคลื่อนย้ายเครื่องมือและเครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้
- วิธีการตรวจสภาพเครื่องมือและเครื่องมือกล
- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือและเครื่องมือกล

.
3.3 มีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับการเก็บรักษาและควบคุมการนำเครื่องมือและเครื่องมือกลไปใช้งาน
.
4. ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกล

เนื่องจากเครื่องมือและเครื่องมือกลมีหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีรายละเอียดความปลอดภัยที่แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะหลักเกณฑ์ความปลอดภัยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

.
4.1 ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกล

- เลือกใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลให้ถูกกับงานที่ทำ
- เลือกใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลที่มีสภาพสมบูรณ์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Machine Guarding) ที่เหมาะสม และใช้งานได้ดีตลอดเวลา
- มีการใช้งานเครื่องมือและเครื่องมือกลด้วยวิธีที่ถูกต้อง
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งที่ใช้งาน

.

- ห้ามทำงานกับเครื่องมือหรือเครื่องมือกลที่ไม่ได้รับการมอบหมาย
- หากต้องทำงานกับเครื่องมือกลที่มีส่วนที่หมุนได้ ห้ามสวมถุงมือ เสื้อผ้าที่รุงรัง หรือเครื่องประดับเด็ดขาด
- ขณะควบคุมเครื่องมือกล เมื่อปิดสวิตช์แล้ว ไม่ควรจะเดินจากไปเลยในทันที ควรรอจนกว่าเครื่องจะปิดสนิทเสียก่อน เพราะอาจมีคนอื่น ๆ เดินเข้ามา โดยไม่รู้ว่าเครื่องมือกลยังเคลื่อนที่อยู่ และอาจเกิดอันตรายได้

.

- ห้ามปรับแต่งชิ้นงาน หรือวัดชิ้นงานขณะที่ยังเคลื่อนไหว
- อย่าพยายามหยุดเครื่องมือกลด้วยมือหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
- อย่าชะโงกหรือยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเข้าไปใกล้ส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องมือกลและชิ้นงาน

.

- การทำความสะอาดเศษเหล็กที่ค้างบนชิ้นงานที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องมือกล ควรใช้แปรงหรือเครื่องดูด หรือเครื่องมือพิเศษเฉพาะงานเท่านั้น
- ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ลมเป่าในการทำความสะอาดชิ้นงานจริง ๆ ต้องจำกัดความดันลมไม่ให้เกิน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และผู้ปฏิบัติงานต้องสวมแว่นตานิรภัยทุกครั้ง

.

- ไม่ควรบ้วนน้ำลายหรือทิ้งขยะลงในถังน้ำยาระบายความร้อน เพราะจะทำให้คุณภาพของน้ำยาเสื่อม และอาจเป็นการแพร่เชื้อโรคได้
- ห้ามผู้ปฏิบัติงานใช้ลมเป่าทำความสะอาดเสื้อผ้า ผม และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะเศษโลหะอาจกระเด็นเข้าตาหรือหูและผิวหนังได้
- ไม่ประมาท และปฏิบัติงานอย่างมีสติเสมอ
- จัดเก็บและบำรุงรักษาเครื่องมือและเครื่องมือกลอย่างถูกต้อง ตามกติกาหรือวิธีการที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

.

4.2 ความปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องมือไฟฟ้า

- ผู้ที่มีคุณวุฒิเหมาะสม และได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าได้
- ต้องตรวจสอบเครื่องมือ สายไฟ การประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อหาร่องรอยชำรุดเสียหายก่อนใช้งานทุกครั้ง
- ปิดสวิตช์เครื่องมือไฟฟ้าทุกครั้งก่อนที่จะเสียบปลั๊กสายไฟ ห้ามเปิด-ปิดเครื่องมือไฟฟ้าโดยวิธีเสียบปลั๊กเข้าหรือดึงปลั๊กออก

.

- จับดึงเต้าเสียบ ไม่ดึงที่สายไฟฟ้า ห้ามดึงเต้าเสียบ โดยวิธีดึงหรือกระตุกที่สายไฟฟ้าเพราะการดึงที่สายไฟฟ้าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
- ปิดสวิตช์ และถอดปลั๊กไฟออกก่อนปรับเครื่องมือทุกครั้ง
- หากต้องทำงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีส่วนที่หมุนได้ ห้ามสวมถุงมือ เสื้อผ้าที่รุงรัง หรือเครื่องประดับเด็ดขาด

.

- พึงสังวรไว้ว่า สายไฟฟ้าทุกเส้นมีกระแสไฟฟ้าและเป็นอันตราย ระวังอย่าให้มีสิ่งใดไปแตะโดนสายไฟฟ้า
- อย่าพาดหรือปล่อยสายไฟฟ้าเกะกะช่องทางเดิน เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม
- อย่าถือเครื่องมือโดยหิ้วที่สายไฟฟ้า
- อย่ามัดสายไฟฟ้าเป็นปม เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้ ให้ขดสายไฟฟ้าหรือใช้เต้าเสียบชนิดกดล็อก
- ต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและแห้ง รวมทั้งใช้ถุงมือสำหรับงานไฟฟ้าเมื่อทำการตัดต่อวงจร
- ห้ามใช้เครื่องมือไฟฟ้าในสถานที่เปียก ชื้นแฉะ นอกจากอุปกรณ์นั้น ๆ จะต่อเข้ากับเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วอัตโนมัติ

.

- อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดที่มีการป้องกันการระเบิด จะเปิดได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เพียงพอเท่านั้น นอกจากนี้อุปกรณ์นั้น ๆ จะต้องอยู่ในสภาพที่ได้ตัดไฟฟ้าออกเรียบร้อยแล้ว และถ้าจำเป็นที่จะต้องเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทนี้ในขณะที่อยู่ในสภาพที่มีไฟฟ้า จะต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยโดยมีการขออนุญาตทำงานที่ก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ

.

- อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ต้องต่อสายดิน
- เปลี่ยนเต้าเสียบจากชนิดถอดได้ชั่วคราว เป็นเต้าเสียบชนิดหล่อถาวร ซึ่งจะป้องกันการลัดวงจรได้
- อย่าใช้สายไฟฟ้าที่ทนกระแสได้ต่ำหรือประเภทที่ใช้งานหนักไม่ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เต้าเสียบร่วมกันมากเกินไป
- ห้ามใช้เต้าเสียบหลาย ๆ อันในเต้ารับอันเดียวกัน

.

- ห้ามนำไฟฉาย ประเภทที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้ามาใช้ในเขตอันตรายที่มีสารไวไฟ
- ห้ามใช้เครื่องมือไฟฟ้าในบริเวณที่เก็บแก๊ส หรือสารระเหยที่สามารถระเบิดได้
- ห้ามใช้สารเคมีที่ไวไฟหรือเป็นพิษ มาทำความสะอาดเครื่องมือไฟฟ้า
- ให้ใช้หมวกนิรภัยชนิด A หรือ B เท่านั้น หากทำงานกับไฟฟ้าแรงสูงให้ใช้หมวกนิรภัยชนิด B เท่านั้น
- หัวหน้างานมีหน้าที่ต้องควบคุมให้พนักงานปฏิบัติตามกฎดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

.

ข้อมูลอ้างอิง

• Power Tool Safety By Dawna L. Cyr and Steven B. Johnson, Ph.D., University of Maine
• Hand and portable powered tools By U.S. Department of Labor, Occupational Safety & Health Administration
• การใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลอย่างปลอดภัย โดย อาจารย์ วิชัย พฤกษ์ธาราธิกูล
• กฎความปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องจักรเครื่องมือไฟฟ้า โดย สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการการทำงาน
• ข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการใช้เครื่องมือไฟฟ้าอย่างปลอดภัย โดย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน