เนื้อหาวันที่ : 2010-11-03 11:37:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3057 views

พัฒนาการความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลังทศวรรษที่ 70

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก โดยชูธงการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยม พร้อมผลักดันสร้างองค์กรระดับโลกมีนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้ขับเคลื่อนโดยพุ่งเป้าให้ทั่วโลกเห็นว่าเศรษฐกิจทุนนิยมดีอย่างไร

เศรษฐศาสตร์หลายสำนัก
กับพัฒนาการความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลังทศวรรษที่ 70

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้แผ่อิทธิพลจักรวรรดินิยมอเมริกันไปทั่วโลกโดยชูธงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตลอดจนพยายามผลักดันการสร้างองค์กรโลกบาลต่าง ๆ อาทิ IMF และ World Bank องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้ขับเคลื่อนและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยมีสาระสำคัญคือทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมดีอย่างไร

.

รวมไปถึงการแบ่งชั้นวรรณะว่าประเทศใดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) หรือ ประเทศใดเป็นประเทศด้อยพัฒนาแม้ภายหลังจะเปลี่ยนมาเรียกประเทศเหล่านั้นว่าประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) ก็ตาม สหรัฐอเมริกาพยายามสร้าง Pax Americana เหมือนที่อังกฤษเคยสร้าง Pax Britanica ในช่วงลัทธิการล่าอาณานิคมกำลังเจริญรุ่งเรือง เพียงแต่ว่ารูปแบบการล่าอาณานิคมได้เปลี่ยนไป

.

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กับการยอมรับองค์ความรู้ด้านเศรษฐมิติ

วกกลับมาที่พัฒนาการความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลังจากผู้ท้าชิงที่ชื่อ Milton Friedman แห่งสำนัก Chicago ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ตามที่ได้เล่าไปเมื่อฉบับที่แล้ว

.

ต่อมาช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ถึงต้นทศวรรษที่ 70 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของวงการวิชาเศรษฐศาสตร์กล่าวคือ ธนาคารกลางแห่งสวีเดนหรือ Sveriges Riksbank เห็นสมควรที่จะมอบรางวัลทางวิชาการในสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับนักเศรษฐศาสตร์ที่สร้างคุณงามความดีในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์โดยใช้ชื่อรางวัลโนเบลเป็นเครื่องประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ได้รับรางวัลเหล่านั้น การมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 1969       

.

โดยมีนักเศรษฐศาสตร์สองท่านที่ได้รับรางวัล คือ ศาสตราจารย์ ดร. Jan Tinbergen และ ศาสตราจารย์ ดร. Ragnar Frisch ด้วยทั้งสองเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาเทคนิคทางคณิตศาสตร์และสถิติโดยใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ (Econometrics) ในการทดสอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ตลอดจนดูความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณด้วยเหตุนี้เองที่นำพาให้เศรษฐศาสตร์มีความใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

.

ปัจจุบันวิชาเศรษฐมิตินับว่ามีบทบาทสำคัญในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ความรู้ดังกล่าวยังมีอิทธิพลต่อการสร้างแบบจำลองนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของประเทศซึ่งสามารถพยากรณ์ระบบเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศได้

.

สองนักเศรษฐศาสตร์จากแผ่นดินยุโรป
ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1969

.

การมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับสองปรมาจารย์จากแผ่นดินยุโรปนั้นย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารากฐานของปรัชญาความคิดการจัดการเชิงเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปฝังแน่นยาวนานมากกว่าฝั่งอเมริกาแม้ว่าเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 จะย้ายฐานที่มั่นมาอยู่ที่อเมริกาแล้วก็ตาม

.

จะว่าไปแล้วการมอบรางวัลโนเบลครั้งนี้นับว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่คลุกคลีกับวิชาเศรษฐศาสตร์ (ในโลกตะวันตก) ได้เริ่มยอมรับในตัวตนของวิชาเศรษฐมิติมากยิ่งขึ้น การยอมรับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพของความเป็นนักเทคนิคหรือวิศวกรด้านเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่

.

เศรษฐศาสตร์ก้าวล้ำมากกว่าการเป็นปรัชญาเพราะวิชาเศรษฐมิติและคณิตเศรษฐศาสตร์สามารถตอบสนองความเป็นรูปธรรมในแง่การเอาไปใช้งานมากกว่าปรัชญาการจัดการเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อไล่เรียงรายชื่อนักเศรษฐมิติผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ย่อมไม่แปลกใจเลยว่าองค์ความรู้ดังกล่าวกำลังเป็นศาสตร์ที่มาแรงในกระบวนวิชาเศรษฐศาสตร์ทัดเทียมวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคหรือเศรษฐศาสตร์มหภาค 

.

สองนักเศรษฐศาสตร์ผู้พัฒนาวิชาเศรษฐมิติ
ซึ่งทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในเวลาต่อมา

.
Rational Expectation ของ Robert E. Lucas

หลังทศวรรษที่ 70 นักเศรษฐศาสตร์มีความพยายามที่จะปรับแนวคิดการจัดการทางเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการคาดคะเนหรือ Expectation ผู้เขียนขออนุญาตย้อนกลับไปเมื่อฉบับที่แล้วซึ่งได้เล่าเรื่องของ Milton Friedman ที่โต้แย้งความคิดของพวกเคนส์ในเรื่องเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานซึ่งโยงใยไปถึงการยอมรับในความสัมพันธ์ของทั้งสองเพียงแค่ระยะสั้นโดยในระยะยาวตัวแปรทั้งสองนั้นไม่มีความสัมพันธ์กัน  

.

สาเหตุหลักเนื่องมาจากในระยะยาวแรงงานจะมีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ดังนั้นเมื่อแรงงานรู้ว่าเกิดเงินเฟ้อแล้วเขาก็จะเรียกร้องค่าจ้างมากขึ้น อันนำไปสู่การปรับลดการจ้างงานและเกิดภาวะที่เรียกว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติในที่สุด (Natural Rate of Unemployment)

.

อย่างไรก็ดีแนวคิดของ Friedman ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ Robert E. Lucas นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มแห่งสำนักชิคาโก Lucasได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการคาดคะเนอย่างมีเหตุผลหรือ Rational Expectation ในบทความของเขาเรื่อง Some International Evidence on Output-Inflation Tradeoffs ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1973 ได้วิพากย์แนวคิดของเคนส์อย่างดุเดือด

.

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่ารัฐควรปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นดำเนินไปด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องแทรกแซงขณะเดียวกัน หน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ จะสามารถคาดคะเนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตได้โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารที่เขามีอยู่จนสามารถเลือกที่จะตัดสินใจทำธุรกรรมต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างมีเหตุผล

.

เมื่อ Lucas นำแนวคิดดังกล่าวมาอธิบายการคาดคะเนอัตราเงินเฟ้อของประชาชนซึ่งเป็นการคาดคะเนอย่างเป็นเหตุเป็นผลนั้น  นัยยะหนึ่งประชาชนจะอยู่ในลักษณะรู้ทันรัฐบาลกล่าวคือพวกเขาจะสามารถคาดคะเนได้ว่าเมื่อรัฐบาลใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลต่อระดับราคาอย่างไรและพวกเขาก็พร้อมจะปรับตัวได้อย่างทันที

.

เช่นเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้นซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการใช้นโยบายเศรษฐกิจก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับผลผลิตและระดับการจ้างงานอย่างที่รัฐต้องการ

.

ปัจจุบัน Lucas นับเป็นขาใหญ่อีกคนหนึ่งในโลกวิชาการเศรษฐศาสตร์และในเวลาต่อมานักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังต่างสถาปนาให้เขาเป็นเจ้าสำนัก New Classical Macroeconomics ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 1995 ในฐานะที่นำการคาดคะเนอย่างมีเหตุผลมาใช้วิเคราะห์ร่วมกับวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับนโยบายทางเศรษฐกิจ

.

Robert E. Lucas
เจ้าพ่อแนวคิด Rational Expectation

.
Oil Shock กับความสำคัญของ Aggregate Supply

ปรากฏการณ์การหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในทศวรรษที่ 30 นั้น เหล่า Keynesian เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากขาดอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) ไม่เพียงพอที่จะมากระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ นับแต่นั้นมานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักสนใจในแง่การวิเคราะห์อุปสงค์มวลรวมขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุปทานมวลรวมหรือ Aggregate Supply เท่าที่ควร

.

อุปทานมวลรวมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือทุน ดังนั้น ทุกครั้งที่กล่าวถึงเรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์มักจะอธิบายผ่านตลาดแรงงานซึ่งอุปทานมวลรวมก็ยังแบ่งเป็นระยะยาวและระยะสั้นอีก ผู้เขียนขอแทรกนิดหนึ่งว่าคำว่าระยะสั้นหรือระยะยาวในทางเศรษฐศาสตร์นั้นสามารถตีความได้หลายแบบ

.

นักเศรษฐศาสตร์จุลภาคอธิบายว่าระยะสั้นเป็นเรื่องของการผลิตหรือ Production ส่วนระยะยาวเป็นเรื่องของการวางแผนการผลิต (Planning) ซึ่งในระยะสั้นปัจจัยการผลิตมีอยู่สองประเภท คือ ปัจจัยการผลิตคงที่หรือ Fixed Factor กับปัจจัยการผลิตที่แปรผันได้หรือ Variable Factor ส่วนในระยะยาวมีเพียงปัจจัยที่แปรผันได้  

.

ความวุ่นวายของ นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่จบแค่นั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคมีการทุ่มเถียงกันถึงเส้น Aggregate Supply ในระยะสั้นและระยะยาวว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าระยะยาวเส้นดังกล่าวเป็นเส้นตรงตั้งฉากที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคากับผลผลิตส่วนในระยะสั้นนั้นความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

.

ผู้เขียนได้ขึ้นต้นหัวข้อนี้ไว้ถึง Oil Shock ซึ่งจัดเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญเนื่องจากน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อเศรษฐกิจโลก วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1973 โดยมีสาเหตุสำคัญคือการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีความต้องการใช้น้ำมันอย่างมาก ราคาน้ำมันดิบขยับสูงขั้นจากบาร์เรลละ 3 ดอลลาร์เป็น 5-8.9 ดอลลาร์

.

ผลพวงของการปรับขึ้นครั้งนั้นทำให้เกิดเงินเฟ้อที่มาจากด้านต้นทุนหรือ Cost Push Inflation ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นโดยเฉพาะพฤติกรรมการรวมหัวกันลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC

.

ซึ่งต่อมากลายเป็นการฮั้วแตกนั้นได้ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาเรื่องตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค ขณะเดียวกันเหล่านักเศรษฐศาสตร์มหภาคได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับบทบาทของอุปทานรวมมากขึ้นซึ่งเราจะว่ากันต่อไปในฉบับหน้าโดยเฉพาะได้เกิดศัพท์ใหม่ที่ชื่อว่า Reaganomics หรือเศรษฐกิจแบบเรแกน

.

เอกสารอ้างอิง

1. ภาพจาก www.economyprofessor.com และhttp://cepa.newschool.edu/het/
2. Roger E Backhouse, The penquin history of economics
3. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล
4. รัตนา สายคณิต, มหเศรษฐศาสตร์ จากทฤษฎีสู่นโยบาย