เนื้อหาวันที่ : 2010-10-28 09:20:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1250 views

"มาร์ค" ชี้ศก.ไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยง

"อภิสิทธิ์" ชี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยง 4 ด้านหลัก ยันรัฐบาลพร้อมรับมือตลอดเวลา เปิดใจรัฐบาลไม่อยู่ครบเทอมปีหน้ามีเลือกตั้งแน่นอน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

.

"อภิสิทธิ์" ชี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยง 4 ด้านหลัก ยันรัฐบาลพร้อมรับมือตลอดเวลา เปิดใจรัฐบาลไม่อยู่ครบเทอมปีหน้ามีเลือกตั้งแน่นอน

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการรับมือของรัฐบาล" ในงานสัมมนาความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของ จีดีพี ปี 54 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประเมินเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง 4 ด้านหลัก ระบุรัฐบาลตระหนักอยู่ตลอดเวลาและมีความพร้อมรับมือกับความเสี่ยง 

.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการรับมือของรัฐบาล" ในงานสัมมนาความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของ จีดีพี ปี 54 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย การเติบโตในปีหน้า และแนวทางการรับมือของรัฐบาล ว่า ในเรื่องของความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันเป็นของคู่กัน

.

ยิ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรม มากขึ้นเท่าไร ภาวะความผันผวน ความแปรปรวนทางเศรษฐกิจก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น และเป็นสิ่งซึ่งอยู่คู่กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เศรษฐกิจที่อิงกลไกตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

โดยยืนยันว่าแม้ในปัจจุบัน หลายประเทศหรือแม้กระทั่งความร่วมมือระหว่างประเทศจะพยายามแก้ปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยมีความคิดที่จะมีการปฏิรูประบบต่าง ๆ มากเพียงไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่าจะสามารถป้องกันความผันผวนหรือความแปรปรวนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในระบบของตลาดและระบบทุนนิยมได้

.

ฉะนั้นถึงจะมีการปฏิรูปองค์กร โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก จะมีการกำหนดมาตรฐานทางด้านสถาบันการเงินที่เข้มงวดกวดขันมากขึ้น จะมีความพยายามที่จะเก็บภาษีการไหลเข้าออกของเงินทุนอย่างไรก็ตาม ก็ยังมั่นใจว่า ไม่สามารถที่จะตามทันนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของระบบทุนนิยม

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบของการเงิน ฉะนั้นความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ต่อเศรษฐกิจไทยนั้นมีแน่นอน และอย่างน้อยที่สุดความเสี่ยงหลัก ๆ ที่มีการประเมินกันในขณะนี้ว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจในช่วงต่อไปจะมีอยู่ 4 ด้าน ประกอบด้วย

.

1) ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่แต่ละประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากภาวะวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ยังอยู่ในฐานะที่ต้องต่อสู้กับภาวะวิกฤตในรอบที่ผ่านมา

.

ทั้งความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน แต่ก็อยู่ในฐานะซึ่งทำได้อย่างจำกัด เพราะเครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ในการที่จะบริหารเศรษฐกิจมหภาคมีข้อจำกัดมาก จึงยังเป็นความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เปิด

.

ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น แม้บางประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักจะมีปัญหา แต่ก็มีตลาดที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน อินเดีย ประเทศในกลุ่ม BRIC หรือกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งในตะวันออกกลาง ที่มีการเชื่อมโยงเข้ามากับเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น หรืออาเซียนมากยิ่งขึ้น

.

พร้อม ๆ ไปกับการที่เราเดินหน้าผลักดันเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนก็ดี และการที่อาเซียนยังเดินหน้าจัดทำข้อตกลงการค้าการลงทุนกับเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ก็ดี จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหานี้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องมีการจับตาอยู่ตลอดเวลาในเรื่องภาวะเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลก

.

2) ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนอยู่ในรูปแบบของการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ปัญหาที่แท้จริงเป็นปัญหาของเงินดอลลาร์ จะไม่หายไปง่าย ๆ ตราบเท่าที่สหรัฐอเมริกายังพยายามใช้นโยบายการเงิน นโยบายภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากสภาพการว่างงานสูง และเงินที่มีอยู่จำนวนมากมีแนวโน้มที่จะต้องไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และตราบเท่าที่เศรษฐกิจไทยยังคงเกินดุลในด้านบัญชีเดินสะพัด

.

ปัจจัยพื้นฐานทั้งหมดก็จะหนุนให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยแข็งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในแง่การบริหารจัดการเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาสำหรับภาคการผลิตที่แท้จริง โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ไม่ได้มีต้นทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งการที่ความผันผวนตรงนี้จะคลี่คลายได้ จะต้องเป็นการคลี่คลายในการประสานงานระดับโลก  

.

ขณะที่ทุกฝ่ายต่างก็คาดหวังว่าในการประชุม จี20 ที่จะมีขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ประเทศเกาหลี จะสามารถคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่จะต้องจับตาต่อไป ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการและรับกับความเสี่ยงตรงนี้เช่นเดียวกัน

.

3) ภัยธรรมชาติ ที่เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและหลายประเทศกำลังประสบอยู่ โดยในประเทศเรา ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ภัยธรรมชาติและภัยพิบัติจึงส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษ การค้าขายภายในประเทศยังผูกติดอยู่กับเรื่องของภาวะของรายได้ของพี่น้องเกษตรกรอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งความผันผวนของสภาพดิน ฟ้า อากาศ ยังเป็นปัญหาซึ่งเป็นความเสี่ยง ที่เศรษฐกิจของเราจะต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา

.

4) เรื่องการเมือง ในปี 2554 จะมีการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลจะไม่อยู่ครบเทอม ซึ่งหากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ราบรื่น ก็จะทำให้เรื่องการเมืองมีความเป็นเสถียรภาพและกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ความเสี่ยงยังมีอยู่เพราะยังมีบางคนบางกลุ่มไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ

.

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระเบิดที่เกิดขึ้นที่นนทบุรี เป็นตัวที่บ่งบอกชัดเจนที่สุด ถึงการไม่ลดละในการที่จะวางแผนเพื่อที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายของคนบางกลุ่ม

.

ส่วนการรับมือของรัฐบาลต่อความเสี่ยงเหล่านี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงเรื่องของความเสี่ยงเหล่านี้ตลอดเวลา เพราะมีประสบการณ์และการเรียนรู้จากวิกฤตและความผันผวนของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาอยู่พอสมควร

.

โดยรัฐบาลมีความพร้อมรับมือด้วยการดูแลเครื่องมือ ที่เป็นเครื่องมือนโยบายทางเศรษฐกิจให้อยู่ในภาวะที่มีความยืดหยุ่นพร้อมจะใช้ได้ ทั้งการบริหารฐานะทางด้านการคลังซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐาน พร้อมไปกับเรียนรู้การใช้นโยบายหรือการเลือกมาตรการที่จะสามารถนำไปสู่ความรวดเร็วของการแก้ไขปัญหา

.

คิดถึงเครื่องมือและนโยบายใหม่ ๆ ที่จะรับมือกับปัญหา ซึ่งสิ่งสำคัญคือรัฐบาลเองจะต้องมีความพร้อมในการที่จะติดต่อสื่อสาร ชี้แจงกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ก็ยังมั่นใจว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า ที่อาจจะลดลงจากปีนี้เล็กน้อย ก็จะไปได้ด้วยดี

.

“อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้มองอยู่เฉพาะในเรื่องความเสี่ยงกับปัญหาของเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือในระยะสั้น 1 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้อย่างสำคัญว่า จะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ในเชิงของการบริหารจัดการเศรษฐกิจ มี 3 เรื่องหลักเพื่อที่จะลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจในอนาคต คือ 1. การเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

.

2. หลักประกันความมั่นคงของประชาชน ระบบสวัสดิการจะต้องเกิดขึ้น ที่ขณะนี้ได้ปูพื้นเพื่อตั้งเป้าว่าในระยะ 6 ปีข้างหน้าเราจะมีระบบสวัสดิการที่มีความชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างและมีความยั่งยืน 3. ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่และก็จะเป็นความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะลดความเสี่ยงในอนาคต” นายกรัฐมนตรีกล่าว