เนื้อหาวันที่ : 2010-10-26 09:01:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11259 views

เศรษฐศาสตร์หลายสำนัก กับการล่มสลายของ Keynesian และ Milton Friedman

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นคนชอบสมมติ จึงทำให้แนวคิดเศรษฐศาสตร์แตกแขนงเป็นหลายสำนักซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดในด้านการจัดการระบบเศรษฐกิจของมนุษย์นับวันยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

จากความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงความรุ่งเรืองของเศรษฐศาสตร์แบบ Keynesian โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ได้กลายเป็นแกนหลักของวิชาเศรษฐศาสตร์ของโลกทุนนิยม ทุกวันนี้นักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศควรมีความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์             

.

กล่าวคือต้องเข้าใจความหมายของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ว่าหมายถึงอะไร อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเช่นไร เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลจัดการมีอะไรบ้าง ตลอดจนรัฐควรใช้นโยบายการเงินการคลังอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ปรากฏอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคหรือ Macroeconomic 

.

อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือการเป็นคนชอบสมมติ (Assumption Man) สมมตินั่นสมมตินี่ ทำให้แนวคิดเศรษฐศาสตร์แตกแขนงออกมาเป็นหลายสำนักคิดหรือ School of Thought แต่ละสำนักคิดล้วนแล้วแต่มีความถนัดจัดเจนกันไปคนละเรื่อง

.

ปัจจุบันวิชาเศรษฐศาสตร์พัฒนาไปไกลได้ก็ด้วยเหล่าสาวกเคนส์ หลังมรณกรรมของเคนส์เหล่าสานุศิษย์ต่างตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก แต่กลุ่มสำคัญที่สืบทอดแนวคิดของเคนส์ปรากฏขึ้นทั้งในอเมริกาและอังกฤษซึ่งถูกจัดว่าเป็น Post Keynesian ขณะที่ Neo Keynesian (Synthesis) School ได้สังเคราะห์แนวคิดเคนส์จนสามารถบรรจุเนื้อหาลงในตำราเศรษฐศาสตร์มหภาค และอีกกลุ่มที่เพิ่งถือกำเนิดประมาณทศวรรษที่ 90 เรียกตัวเองว่า  New Keynesian 

.

อย่างไรก็ตามการแตกแขนงทางความคิดของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ล้วนสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดในด้านการจัดการกับระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ที่นับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ มักปรากฏนักเศรษฐศาสตร์ที่ขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้วิกฤตดังกล่าวได้ทุกครั้ง ดังเช่นปรากฏการณ์ Keynesian Revolution

.

Joan Robinson
นักเศรษฐศาสตร์หญิงในกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่   สาวกเคนส์ฝั่งอเมริกา
ถูกจัดว่าเป็น Cambridge Post Keynesian

.

Abba Lerner
สาวกเคนส์ฝั่งอเมริกา
ได้รับการยอมรับในฐานะ American Post Keyeneian

.
ความเสื่อมสลายของ Keynesian กับการท้าทายของ Monetarism

แม้ว่าความรุ่งเรืองของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์จะทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ได้รับการจับตา มองว่าเป็นศาสตร์ดาวรุ่งจนมีการมอบรางวัลโนเบลให้ตั้งแต่ปี 1969 แต่อย่างไรก็ตามปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าเงินเฟ้อ (Inflation) กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เริ่มได้รับความนิยมลดลง

.

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอเมริกันพยายามทำตัวเป็นตำรวจโลก และนิยมส่งกองกำลังทหารไปแทรกแซงการเมืองภายในประเทศกำลังพัฒนาตลอดจนสร้างสงครามไปในทุกภูมิภาค ตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม จนกระทั่งสงครามในตะวันออกกลาง รัฐบาลอเมริกันใช้นโยบายการคลังขาดดุลโดยเฉพาะรายจ่ายสนับสนุนด้านอาวุธและกองทัพ  

.

ผลพวงของการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยขยายอุปสงค์มวลผ่านการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลทำให้เงินเฟ้อเริ่มสร้างปัญหาในแง่เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์น้ำมันหรือ Oil Shock ในต้นทศวรรษ 70 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Stagflation นั่นคือ เกิดการว่างงานพร้อม ๆ กับมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทั้งนี้ด้วยความที่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ไม่ใคร่จะคำนึงถึงด้านอุปทานมวลรวมเสียเท่าไรนัก ทำให้เหล่าสาวก Keynes ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเพราะเหตุใดเศรษฐกิจจึงตกต่ำ

.

การท้าทายความคิดของนักเศรษฐศาสตร์สาย Keynesian ปรากฏขึ้นที่ Chicago ภายใต้การนำของ Milton Friedman ด้วยเหตุที่สานุศิษย์เคนส์ล้วนแล้วแต่นิยมชมชอบนโยบายการคลังหรือ Fiscal Policy โดยเชื่อว่าการบริหารเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังมีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายการเงิน (Monetary Policy) เหล่า Keynesian ต่างพยายามสร้างผลงานเพื่อวางรากฐานให้สถานภาพของเศรษฐศาสตร์มหภาคมีความมั่นคง

.

ตัวอย่างเช่น งานของ Arthur W. Phillips ที่พยายามอธิบายความสัมพันธ์ของอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) Phillips Curve จึงกลายเป็นที่มาของความสัมพันธ์ดังกล่าว Phillips Curve แสดงให้เห็นสภาพที่ตรงกันข้ามระหว่างการว่างงาน (Unemployment) และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งความสัมพันธ์ข้างต้นบอกได้ว่าหากอัตราการว่างงานลดลงแล้วอัตราเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้นตามด้วย

.

เส้น Phillips Curve แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อ () กับอัตราการว่างงาน (U)

.

คำอธิบายของ Arthur Phillips ทำให้รัฐบาลเชื่อได้สนิทใจว่าหากจะเลือกใช้นโยบายอะไรก็ย่อมมีผลข้างเคียงตามมาเสมอ หากรัฐต้องการลดอัตราการว่างงานก็ต้องยอมแลกกับปรากฏการณ์เงินเฟ้อ

.

ความเชื่อเหล่านี้ถูกท้าทายโดยนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันจากสำนัก Chicago อย่าง Milton Friedman และ Edmund Phelp จาก Columbia University ซึ่งภายหลังเรื่องราวของ เส้นโค้ง Phillips จึงเหลือเพียงตำนานในตำราเศรษฐศาสตร์มหภาค เนื่องจากนักมหเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังต่างยอมรับความสัมพันธ์ดังกล่าวเพียงในระยะสั้นเท่านั้น

.

Milton Friedman
เจ้าสำนัก Chicago ผู้สถาปนาอาณาจักร Monetarism

.

Friedman จัดเป็นยอดนักเศรษฐศาสตร์แห่งศตวรรษนี้ เขาเป็นคนแรก ๆ ที่หาญกล้าออกมาต่อกรกลับบรรดาสาวกเคนส์ซึ่งในขณะนั้นได้วางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐศาสตร์แบบ Keynesian แล้ว การต่อสู้ทางความคิดของ Friedman เริ่มต้นขึ้นที่เรื่องประสิทธิภาพของนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง

.

ทั้งนี้เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เชื่อว่านโยบายการคลังมีประสิทธิภาพสูงกว่านโยบายการเงินโดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหตุผลเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่ออุปสงค์มวลรวมทำให้การใช้นโยบายการเงินไม่เกิดประสิทธิผล การใช้นโยบายการคลังจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์รวมได้โดยตรงกว่า     

.

อย่างไรก็ตาม Friedman และ Anna Schwartz ได้ร่วมกันศึกษาถึงความสัมพันธ์ของนโยบายการเงินรวมทั้งเงินและผลผลิตของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1867-1960 ผลการศึกษาพบว่านโยบายการเงินเป็นนโยบายที่สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวขึ้นลงของผลผลิตได้ดีและนี่เองที่ทำให้เกิดวาทะที่ว่า Money is Matter ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเงินมีหน้าที่เพียงเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเท่านั้น

.

ข้อโต้แย้งที่สำคัญที่ทำให้บรรดาสาวกเคนส์ต่างไม่สามารถปฏิเสธได้คือเรื่องความสัมพันธ์ของอัตราการว่างงานกับอัตราเงินเฟ้อ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าสองตัวแปรนี้มีลักษณะแบบได้อย่างเสียอย่าง แต่ Friedman กลับเห็นว่าในระยะยาวเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานไม่มีความสัมพันธ์กันเนื่องจากในระยะสั้นนั้นแรงงานยังไม่รู้ว่าเกิดเงินเฟ้อ แรงงานก็ยังคงเสนอขายแรงงานตามค่าจ้างที่ได้รับเป็นตัวเงิน (Nominal Wage)

.

แต่ในระยะยาวเมื่อแรงงานพบว่าค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) ของพวกเขาลดลงอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แรงงานจะเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเสนอขายแรงงานน้อยลงซึ่งก็ทำให้ไม่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน Friedman อธิบายเรื่องนี้ในชื่อ Misperception Workers หรือ Fooling Model นอกจากนี้งานวิจัยของ Edmund Phelp ก็พบว่าอัตราการว่างงานไม่มีวันเป็นศูนย์ได้แต่จะมีอัตราการว่างงานตามธรรมชาติหรือ Natural Unemployment Rate

.

เส้น Phillips Curve ในระยะยาวเป็นเส้นตรงโดย U* คืออัตราการว่างงานตามธรรมชาติ

.

ข้อโต้แย้งประการสุดท้ายคือเรื่องบทบาทของรัฐในการดำเนินนโยบายการเงินนโยบายการคลัง ในบทความของ Friedman ที่ชื่อ The role of monetary policy เขาเชื่อว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับนโยบายการเงินโดยให้ธนาคารกลางกำหนดการเพิ่มปริมาณเงินในอัตราคงที่เป็นกฎเกณฑ์ที่สม่ำเสมอหรือ Rule มากกว่าที่รัฐจะใช้ดุลยพินิจ (Discretionary) ในการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจเนื่องจากการใช้ดุลยพินิจมีโอกาสผิดพลาดสูงประกอบกับยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการใช้นโยบายหรือ Time Lag

.

เราจะเห็นได้ว่าข้อเสนอของ Friedman ในช่วงทศวรรษที่ 60 ล้วนเป็นรากฐานความคิดในเชิงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะการสนับสนุนบทบาทของธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติในการมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ผลงานของ Friedman ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 1976 สำหรับฉบับหน้าเราจะมาว่ากันต่อถึงพัฒนาการความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลังทศวรรษที่ 70

.

เอกสารอ้างอิง

1. ภาพจาก www.economyprofessor.com และ http://cepa.newschool.edu/het/
2. Roger E Backhouse, The penquin history of economics
3. จุรี ตาปนานนท์, ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคในชั้นเรียนมาจากไหน