เนื้อหาวันที่ : 2010-10-21 11:25:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 522 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 21 ต.ค. 2553

1.  มูลค่าส่งออกไทย เดือน ก.ย.53 ขยายตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์การส่งออกของไทย

-  นางพรทิวา นาคาศัย  รมว.พาณิชย์  เปิดเผยว่า  ยอดการส่งออกเดือน ก.ย.53 มีมูลค่า 18.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี  ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การส่งออกของไทย  ทำให้ยอดการส่งออกรวม 9 เดือนของปี 53  อยู่ที่ 143.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ  31.7 ต่อปี 

.

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี  ส่งผลให้ไทยมียอดดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 25.0 ต่อปี  จากปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไทย  แม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย 

.

สำหรับมูลค่าการส่งออกไทยในปี 54  สศค. คาดว่าจะสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 11.0-13.0)  ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.5 และ 4.5 ต่อปี ในปี 53 และ 54 ตามลำดับ (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0-5.0)  (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย.53) 

.

2.  กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75

-  ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง จากการบริโภคที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง  ความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจและตลาดเงินอาจมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในปัจจุบันยังทรงตัว

.

-  สศค.  วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้เพื่อรอประเมินสถานการณ์ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ ธปท. คาดว่าจะชะลอตัวตัวลงในช่วงต่อไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นที่มีความเปราะบาง จากการบริโภคที่ฟื้นตัวช้า

.

ปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลอดจนเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเสี่ยงจากการปรับลดการขาดดุลการคลังในปีหน้า ซึ่งทำให้ กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรอประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีส่วนช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าได้ในระดับหนึ่ง

.

3. ธนาคารกลางจีนประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

-  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าธนาคารกลางจีนได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิมที่อัตราร้อยละ 5.31 มาสู่ระดับ 5.56 ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้ปรับสูงขึ้นมาสู่ระดับร้อยละ 2.5 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 2.25 ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนและควบคุมปริมาณสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ถือเป็นหนึ่งในมาตรการของทางการจีนเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูงกว่าร้อยละ 10 (ไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.3) และเป็นการเพื่อควบคุมความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์

.

ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ใน 70 เมืองใหญ่ในจีนล่าสุด ณ เดือน ก.ย. 53 ได้ปรับตัวสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 9.1 ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินเชื่อโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อปริมาณเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศไหลมาสู่จีนเพิ่มสูงขึ้น

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง