เนื้อหาวันที่ : 2010-10-19 12:05:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1155 views

เอกชนสุดทน จี้ ธปท. ฉีดยาแรงสกัดบาทแข็ง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ชู 6 มาตรการสกัดกั้น วอนคลัง ธปท. พิจารณาด่วน ชี้มาตรการที่ออกมายังไม่เพียงพอ

.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ชู 6 มาตรการสกัดกั้น วอนคลัง ธปท. พิจารณาด่วน ชี้มาตรการที่ออกมายังไม่เพียงพอ

.

สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2553 เงินบาทมีการแข็งค่าเฉลี่ยไปถึง 2.344 บาทต่อดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 7.329 หากเปรียบเทียบการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีมีสัดส่วนแข็งค่าถึงร้อยละ 10.2 แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่เงินบาทมีการแข็งค่าสูงอย่างต่อเนื่อง

.

ปัจจัยสำคัญที่เป็นผลต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง เงินยูโร เกิดจากเสถียรภาพการเงินโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นจากปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และ กลุ่มประเทศในยุโรป ก่อให้เกิดความตึงเครียดในตลาดพันธบัตร และ ตลาดการเงินของประเทศเหล่านั้น กอปรกับ มาตรการการลดดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ ร้อยละ 0.25

.

กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปคงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 1.0 สหราชอาณาจักรลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ญี่ปุ่นปรับลดเหลือร้อยละ 0 ไต้หวัน ร้อยละ 1.25 เป็นต้น สำหรับประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทย อาทิ ประเทศจีน ร้อยละ 5.3 แต่ประเทศจีนมีการผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์ สรอ. และ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากที่สุดในโลก นักเก็งกำไรจึงไม่สามารถเข้าไปทำอะไรเงินหยวนได้มากนัก

.

ในกรณีของประเทศมาเลเซีย ที่มีดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.5 และ ประเทศเกาหลี ดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.0 ทั้งสองประเทศนี้ มีดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าไทย และ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิด พันธบัตรได้รับความน่าเชื่อถือ เงินจึงไหลเข้ามาทำให้ค่าเงินของทั้งสองประเทศมีลักษณะผันผวนและมีการแข็งค่าของเงินคล้ายคลึงกับประเทศไทย  

.

อย่างไรก็ตาม บางประเทศในภูมิภาค เช่น อินเดีย ดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 5 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.5 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 4.0 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะมีอัตราสูงแต่จากปัญหาความไม่น่าเชื่อถือในสถาบันการเงิน รวมถึง วินัยทางการเงิน ส่งผลให้พันธบัตร และ/หรือ ตราสารหนี้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ ถึงแม้จะมีอัตราค่าเงินแข็งค่าแต่ก็อยู่ในอัตราที่ไม่ผันผวนมากนักเมื่อเทียบกับประเทศไทย

.

จากความล้มเหลวในการประชุมใหญ่ประจำปีของ IMF ณ นครวอชิงตันเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ไม่สามารถกดดันให้ประเทศจีนมีการปรับค่าเงินหยวนให้มีการแข็งค่าขึ้น อีกทั้ง รายงานผลสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ ยุโรป ยังปรากฏว่าทิศทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวได้ในเร็วๆนี้ ส่งผลต่อความตึงเครียดในตลาดพันธบัตร และ ตลาดการเงินของโลก  

.

ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกละลอกใหม่ในลักษณะ Dollar Carrying Trade จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย และ อาเซียน ต่อไป เนื่องจากเป็นภูมิภาคเดียวที่ยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอยู่ 

.

ประเทศไทยในช่วงปี 2553 ดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. มีการปรับขึ้นมา 2 ครั้ง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับ 1.75 ถึงแม้ว่าทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่มีผลโดยตรงต่อกระแสเงินไหลเข้า แต่โดยข้อเท็จจริง อัตราผลตอบแทน หรือ ดอกเบี้ยพันธบัตร จะมีผลผันแปรไปตามดอกเบี้ยนโยบาย

.

เห็นได้จาก ดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และ ธปท. อาทิ พันธบัตรอายุ 1-2 ปี ให้ผลตอบแทนร้อยละ 1.3 ปีที่ 3-4 ร้อยละ 4 และ ปีที่ 5 ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นอัตราที่สูง กว่าหลายประเทศในภูมิภาค     

.

กล่าวได้ว่า ดอกเบี้ยนโยบายไม่มีผลโดยตรงต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ แต่มีนัยสำคัญต่อการกำหนดอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ จากตารางข้างล่างแสดงให้เห็นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยมีอัตราที่สูงเป็นสาเหตุสำคัญที่มีกระแสเงินไหลเข้ามาในประเทศไทย        

.

เงินที่เข้ามามากในลักษณะนี้ มีความผิดปกติ เพราะเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดีกว่ามาเลเซีย เกาหลี หรือไต้หวัน ซึ่งค่าเงินบาทของประเทศเหล่านี้ในช่วง 2 เดือนเศษที่ผ่านมา แข็งค่าเฉลี่ยที่ระดับร้อยละ 3.199 ขณะที่ประเทศไทยแข็งค่าร้อยละ 7.389 ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินที่เข้ามาส่วนใหญ่ เพื่อการเก็งกำไร และมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าผันผวนอย่างผิดปกติ

.

จากกระแสเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยประมาณร้อยละ 80 เป็นเงินสกุลดอลลาร์และกว่าร้อยละ 70 ของ capital inflow ที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ประกอบด้วย พันธบัตรของรัฐบาล และ พันบัตรของ ธปท. ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาซื้อพันธบัตรในตลาดหลัก จากตัวเลขในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีพันธบัตรตราสารหนี้ซึ่งชาวต่างชาติถือรวมกันถึง 220,000 ล้านบาท โดยมียอดซื้อสุทธิ 140,000 ล้านบาท

.

เงินที่ไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรของรัฐบาล และ ธปท. เฉพาะในช่วง 9 เดือน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.14 เฉพาะในเดือนกันยายนเพียงหนึ่งเดือนมีเงินเข้าไหลเข้ามากกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตร ธปท. เมื่อเทียบกับในปี 2552 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ธปท. มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อที่จะขายพันธบัตรให้กับนักลงทุนต่างชาติ

.

ซึ่งจากตัวเลขของเงินที่ไหลเข้าแสดงให้เห็นเป็นนัยชัดเจนได้ว่า เงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดการเงิน และ ตลาดทุน จะมีลักษณะของการเก็งกำไร  

.

โดยธุรกรรมส่วนใหญ่ของการออกพันธบัตรของ ธปท.เดือนสิงหาคม – กันยายน มีมูลค่าพันธบัตรที่ออกเป็นมูลค่า 767,431 ล้านบาท เทียบจากมกราคม ถึง กรกฎาคม มีมูลค่า 724,902 ล้านบาท เพียงระยะเวลา 2 เดือน พันธบัตร ธปท. ที่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของที่ออกทั้งหมด (9 เดือน) ตัวเลขนี้สอดคล้องกับช่วงดังกล่าวเป็นจังหวะการแข็งค่าของเงินบาทอย่างผิดปกติพอดี

.

ภายใต้มาตรการของรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 โดยเฉพาะมาตรการการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ร้อยละ 15 รวมถึง มาตรการอื่น ๆ ซึ่งได้รับการวิจารณ์ว่ายังคงเป็นมาตรการที่ไม่พอเพียงต่อการรับมือของเงินร้อนที่จะยังคงไหลเข้า โดยตลาดเงินตราต่างประเทศตอบสนองในวันรุ่งขึ้น หลังจากการออกมาตรการ ค่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่าสูงสุด (high-end) 29.616 บาท ต่อ ดอลลาร์ สรอ. และอัตราถัวเฉลี่ยที่ระดับ 29.714 บาทต่อดอลลาร์

.

ขณะที่ค่าเงินบาท Off Shore อยู่ที่ระดับ 29.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทในช่วง 1 วัน นับแต่วันออกมาตรการของกระทรวงการคลังแข็งค่าถึง 0.21 บาทคิดเป็นร้อยละ 0.71 ทั้งนี้ เมื่อเทียบจากวันที่ 1 สิงหาคม 2553 อัตราซื้ออยู่ที่ 31.979 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง เงินบาทแข็งค่าไปถึง 2.363 บาทคิดเป็นอัตราแข็งค่าร้อยละ 7.389 แข็งค่าเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค

.

อันดับที่ 2 เงินเปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่า 5.101% อันดับที่ 3 เงินวอนของเกาหลีแข็งค่า 4.319% อันดับที่ 4 เงินดอลลาร์สิงค์โปร์แข็งค่า 3.897% อันดับที่ 5 เงินดอลลาร์ไต้หวัน แข็งค่า 3.193% อันดับ 6 เงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่า 2.102% สำหรับเงินหยวนของจีนแข็งค่าเป็นอันดับ 7 ที่ระดับ 1.488% ขณะที่เวียดนามเงินอ่อนค่า 1.956%          

.

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าเงินบาทเฉพาะวันที่ 13 ตุลาคม 2553 เป็นการแข็งในระดับที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค เพราะประเทศอื่นๆ กลับมีการแข็งค่ามาก โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียมีการแข็งค่าสูงกว่าไทยติดต่อมา 3 วัน เฉลี่ยแข็งค่า 0.420% (เทียบกับไทยที่แข็งค่า 0.706%) แสดงให้เห็นว่ากระแสเงินไหลเข้าเอเชียในช่วงนี้แรงมาก และอย่างน้อยมาตรการของรัฐบาลก็มีผลอยู่บ้าง จึงทำให้การแข็งค่าในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เงินบาทของไทยจึงแข็งค่าต่ำกว่าหลายประเทศ

.

โดยภาพรวมแล้วมาตรการของรัฐบาลที่ออกในระยะสั้นเงินไหลเข้า (Capital Inflow) อาจมีการชะลอตัวบ้างหรือแข็งค่าเล็กน้อย เพราะต่างชาติจะรอดูมาตรการที่จะออกมาใหม่ว่าจะมีความเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ แต่หาก ธปท. และกระทรวงการคลังยังไม่มียาแรงในการสกัดกั้นการเก็งกำไรของเงินทุนต่างชาติ (Carry Trade) เช่น มาตรการด้านการเก็บภาษีจากเงินลงทุนอย่างที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้  

.

บวกกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไปอีก จำเป็นที่ ธปท. ควรจะมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหลือ 1.50 ไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2554 เพราะสถานการณ์เงินดอลลาร์อ่อนค่าจะคงมีอยู่ต่อไปอย่างน้อยไปต้นไตรมาสของปี 2554 หรือจนกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเป็นนัย ซึ่งก็จะยังไม่เห็นได้ในเร็วๆ นี้

.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอ 6 มาตรการเร่งด่วนสกัดค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ประกอบด้วย 1) ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เหลือ1.50 และ/หรือ ให้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยอัตราปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี หรือ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 เป็นอย่างน้อย

.

2) กระทรวงการคลัง และ ธปท. เดินหน้าผลักดันมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วให้มีผลทางปฏิบัติตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง เพื่ออุดช่องโหว่ต่างชาติเข้ามาเก็งกำไร

.

3) ธปท. ต้องส่งสัญญาณอย่างจริงจังในการดูแลไม่ให้เงินผันผวนไปตามการเก็งกำไร โดยจะต้องมีมาตรการในการตรวจสอบยอดคงเหลือในบัญชีของผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (non resident) โดยให้มีการตรวจสอบตัวเลขยอดเงินฝากไม่ให้เกินกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติจะต้องเร่งนำเงินที่ขายหรือได้กำไรจากตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น ออกนอกราชอาณาจักร

.

4) ธปท. เข้มงวดเงินที่เข้ามาในลักษณะเก็งกำไรทั้งในตลาดทุน และ ตลาดตราสารหนี้ โดยอาจจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบติดตามและควบคุมเงินเข้าและออกซึ่งมีลักษณะเก็งกำไร

.

5) ธปท. ออกกฎเกณฑ์ควบคุมและจำกัดจำนวนเงินกู้ยืม และ แลกเปลี่ยนเงินบาท ของสถาบันการเงิน และ/หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการเงิน รวมถึง บริษัทในเครือ ในการจำกัดการกู้เงินบาทไปแลกดอลลาร์ เพื่อเป็นการจำกัดการเก็งกำไรเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายในต่างประเทศ

.

6) ธปท. และกระทรวงการคลัง ร่วมมือ ในการหามาตรการที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นกว่าที่ออกมาแล้ว โดยใช้นโยบายทั้งการเงิน และ การคลัง สอดประสานในการสกัดกดดัน เพื่อลดการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น